กรุงเทพฯ 6 มี.ค. – กกร.เล็งทบทวนประมาณเศรษฐกิจไทยใหม่เดือนหน้า หลังส่งออกหดตัวจากปัจจัยในประเทศและต่างประเทศ ขณะเดียวกันเตรียมเสนอนโยบายเศรษฐกิจรัฐบาลใหม่
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร.เตรียมจัดทำนโยบายเศรษฐกิจที่ภาคเอกชนต้องการ เพื่อนำเสนอให้รัฐบาลใหม่พิจารณนำไปบริหารประเทศ โดยขณะนี้เลขาธิการของ 3 สถาบัน ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ส.อ.ท. และสมาคมธนาคารไทย อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลด้านเศรษฐกิจและจะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะทำงานของ กกร. เพื่อสรุปร่วมกันและจัดทำเป็นนโยบายเศรษฐกิจของประเทศที่ภาคเอกชนต้องการเสนอรัฐบาลใหม่ต่อไป
ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทย กกร.มองว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาสสุดท้ายของปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 3.7 ดีขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้า โดยมีการลงทุนและการบริโภคภาคเอกชนเป็นแรงสนับสนุนหลัก ขณะที่การส่งออกและการท่องเที่ยวผ่อนแรงลง สำหรับเดือนแรกของปี 2562 การส่งออกหดตัวร้อยละ 5.7 ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกจากประเด็นสงครามการค้า และทิศทางค่าเงินบาทที่แข็งค่า สะท้อนภาพว่าไตรมาสแรกของปี 2562 ปัจจัยที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอาจต้องอาศัการใช้จ่ายภายในประเทศเป็นหลัก ทั้งการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ การใช้จ่ายสำหรับกิจกรรมการหาเสียงเลือกตั้ง และการเติบโตของการท่องเที่ยว ทั้งนี้ ภาคเอกชนมองว่าการเมืองที่จะมีการเลือกตั้ง ทำให้ระดับความเชื่อมั่นของนักลงทุนดีขึ้น เนื่องจากรัฐบาลมีโครงการใหญ่ ๆ ของเขตพัฒนาพิเศษ ส่วนหากจะมีการยุบพรรคการเมืองบางพรรค ก็ไม่ส่งผลกระทบด้านการเมืองของไทยในภาพรวมเพราะมียังอีกหลายสิบพรรคการเมืองให้เลือกลงคะแนนเสียงได้
ทั้งนี้ ที่ประชุม กกร.เห็นว่าแม้เงินบาทเริ่มจะปรับตัวอ่อนค่าลง และประเด็นสงครามการค้าเริ่มมีสัญญาณเชิงบวก แต่เงินบาทแกว่งตัวมากเกินไป โดย 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาเงินบาทอ่อนค่าลงมากถึงร้อยละ 2.4 การผันผวนของค่าเงินที่แกว่งตัวรุนแรงเช่นนี้ ทำให้ผู้ส่งออกสินค้ามีความยากลำบากในการตั้งราคาสินค้าส่งออก ทั้งนี้ ภาคเอกชนอยากจะเห็นเงินบาทแกว่งตัวไม่เกินร้อยละ 0.5 โดยค่าเงินบาทที่อยากจะเห็น คือ ประมาณ 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2562 ยังคงต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนจากปัจจัยทั้งในและต่างประเทศ โดยระยะใกล้นี้คงต้องติดตามผลการประชุมข้อตกลงการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนวันที่ 27 มีนาคมนี้ ซึ่งเป็นประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกมากที่สุด รองลงมาคือ ข้อสรุปเรื่อง BREXIT และยังมีปัจจัยการเมืองในประเทศ ตลอดจนทิศทางค่าเงินบาท นอกจากนี้ ยังต้องติดตามท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เนื่องจากเป็นที่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐอาจมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงในช่วงครึ่งปีหลัง
ในเบื้องต้นขณะนี้ กกร.ยังคงกรอบประมาณการเครื่องชี้เศรษฐกิจปี 2562 ไว้ตามเดิม แม้มีความเป็นไปได้ที่การส่งออกอาจขยายตัวต่ำกว่ากรอบล่างของประมาณการ โดยจะขอรอดูเหตุการณ์ต่าง ๆ ก่อนที่จะทบทวนประมาณการปี 2562 เดือนหน้า สำหรับประมาณการเศรษฐกิจของ กกร. เศรษฐกิจไทยปีนี้โตร้อยละ 4.0-4.3 ส่วนการส่งออกโตร้อยละ 5.0-7.0 โดยยังคงเชื่อว่าการส่งออกปีนี้จะดีกว่าปีที่ผ่านมา และเงินเฟ้ออยู่ในระดับร้อยละ 0.8-1.2 ต่อปี
ด้านการแก้ไขปัญหาด้านการศึกษา ที่ประชุม กกร.ได้รับทราบจากนายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาด้านการศึกษาของไทย และการส่งเสริมการศึกษาภาคอาชีวะศึกษาให้ตรงกับความต้องการของภาคธุรกิจ โดยกระทรวงศึกษาร่วมมือกับสถาบัน Pearson จากประเทศอังกฤษ จัดทำหลักสูตร Business and Technology Education Council (BTEC) และรัฐมนตรีฯ ได้ขอความร่วมมือภาคเอกชนพิจารณาผู้ที่มีประกาศนียบัตรหลักสูตร BTEC เป็นพิเศษในการรับสมัครเข้าทำงาน
ส่วนการส่งเสริมผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบบัญชีเดียวนั้น ก่อนหน้านี้ กกร.เสนอมาตรการส่งเสริมเอสเอ็มอี ให้เข้าสู่ระบบบัญชีเดียว ซึ่งกรมมสรรพากรตอบรับข้อเสนอและได้ออกกฎหมายร่างพระราชบัญญัติยกเว้นเบี้ยปรับเงินเพิ่มภาษีอากรและความผิดอาญา เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากร ที่ผ่านวาระ 1 ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และจะพิจารณาวาระ 2 และ 3 สัปดาห์นี้ และวันที่ 14 มีนาคม 2562 กกร.กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมสรรพากร กรมพัฒนาธุรกิจการค้า สภาวิชาชีพบัญชีฯ จะลงนาม MOU ร่วมกันในเรื่องดังกล่าว พร้อมแถลงข่าวอย่างเป็นทางการอีกครั้ง.-สำนักข่าวไทย