กรุงเทพฯ 4 มี.ค. – “กฤษฎา” สั่งด่วนข้าราชการ ขับเคลื่อนนโยบายหลัก 4 ประการ เร่งบริหารจัดการน้ำฤดูแล้ง ตั้งวอร์รูมติดตามสถานการณ์ทั่วประเทศ จัดทำแผนรองรับไม่ให้เกิดวิกฤติขาดแคลนน้ำ
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการเกษตรและสหกรณ์ สั่งการด่วนผ่านระบบ Web Conferrence ไปยังทุกหน่วยงานทั่วประเทศรับมือภัยแล้ง โดยมอบหมายกรมชลประทานเป็นหน่วยงานหลักจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำตลอดฤดูแล้งและสำรองน้ำถึงเดือนกรกฎาคมกรณีฝนมาช้าเกษตรกรจะยังคงมีน้ำทำการเกษตรฤดูกาลเพาะปลูก 2562 แต่ข้อมูลที่ได้รับจากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISDA) และสำนักงานสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) นั้น ภาวะแล้งปีนี้จะนานขึ้นและอากาศร้อนมากขึ้นกว่าหลายสิบปีที่ผ่านมา จึงเห็นความจำเป็นต้องเตรียมรับสถานการณ์ตั้งแต่เดือนมีนาคม โดยมอบหมายสำนักงานปลัดกระทรวงฯ และกรมชลประทานตั้งสำนักงานคณะกรรมการบริหารน้ำส่วนกลางหรือวอร์รูมรายงานสถานการณ์น้ำให้รัฐมนตรีทราบทุกวันจันทร์
สำหรับแผนบริหารจัดการน้ำ แบ่งเป็น 4 ส่วนตามลำดับความสำคัญ คือ น้ำอุปโภค-บริโภค น้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศน์ ได้แก่ ป้องกันน้ำเค็มรุก ระดับน้ำลดลงต่ำจนตลิ่งทรุด หรือน้ำเน่าเสีย เป็นต้น ต่อมา คือ น้ำเพื่อการเกษตร ท้ายสุดน้ำสำหรับภาคอุตสาหกรรม ซึ่งกรมชลประทานต้องวางแผนบริหารจัดการทุกพื้นที่ทั้งในเขตและนอกเขตชลประทาน ชลประทานจังหวัด ประสานเกษตรจังหวัดและพัฒนาที่ดินจังหวัด โดย 3หน่วยงานนี้ต้องทราบสถานการณ์น้ำอย่างดีทั้งน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติและปริมาณน้ำกักเก็บ ทั้งนี้ ให้ใช้กลไกคณะอนุกรรมการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ทุกจังหวัด (อกพ. จ.) ที่มีผู้ว่าราชการหรือรองผู้ว่าฯเป็นประธานเพื่อประสานกับหน่วยบรรเทาป้องกันสาธารณภัย (ปภ.) เพื่อให้ทราบจำนวนประชาชน พื้นที่เกษตร คาดการณ์ความต้องการใช้น้ำ อีกทั้งหากฝนมาล่ากว่าฤดูกาลปกติต้องมีแผนเผชิญเหตุไว้รองรับวิกฤติอย่างน้อยจนถึงเดือนกรกฎาคม
ส่วนนโยบายที่ต้องเร่งดำเนินการ คือ แผนปฏิบัติการจำกัดการใช้สารเคมี 3 ชนิด คือ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ซึ่งได้รับรายงานจากอธิบดีกรมวิชาการเกษตรว่าประกาศกระทรวงเกษตรฯ จำกัดการใช้ ซึ่งกรมวิชาการเกษตรเสนอให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติเห็นชอบ 5 ฉบับนั้น มี 3 ฉบับคณะอนุกรรมการฝ่ายกฎหมายทบทวนและปรับถ้อยคำให้เหมาะสมเสร็จเรียบร้อยแล้ว ส่วนอีก 2 ฉบับมีการพิจารณาวันนี้ จากนั้นจะต้องส่งให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายรับทราบแล้วส่งกลับมายังกระทรวงเกษตรฯ จึงจะออกประกาศกระทรวงฯ ทั้ง 5 ฉบับได้ โดยในการออกประกาศจำกัดการใช้ต้องลงนามร่วมกันทั้งกระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงอุตสาหกรรม เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบตาม พ.ร.บ. วัตถุอันตราย แต่การออกประกาศยังไม่เสร็จ กระทรวงเกษตรฯ ได้เริ่มดำเนินการแล้วทั้งการตรวจสอบปริมาณสารเคมีทั้ง 3 ชนิดทั่วประเทศ จัดทำหลักสูตรอบรมผู้จำหน่าย เกษตรกร และผู้รับจ้างฉีดพ่น จำกัดการนำเข้า การศึกษาวิจัยหาสารหรือวิธีการทดแทน รวมทั้งการเร่งขยายพื้นที่ทำเกษตรกรรมตามหลักปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี ภายใต้มาตรฐาน GAP และเกษตรอินทรีย์ซึ่งกำหนดว่าจะทำให้ครบพื้นที่เกษตรทั้ง 149 ล้านไร่ทั่วประเทศใน 2 ปี
นายกฤษฎา กล่าวเพิ่มเติมว่า นโยบายที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง คือ การรักษาเสถียรภาพราคาผลผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญ ได้แก่ ข้าว ยางพารา ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งปี 2562 จะเพิ่มการปลูกถั่วเหลือง ถั่วเขียว และพืชผักด้วย โดยต้องศึกษาความต้องการของตลาด จึงกำหนดปริมาณการผลิตหรือโควตาการเกษตร สำหรับอีกนโยบายสำคัญ คือ การปฏิรูปภาคการเกษตร โดยการจัดทำโครงการวิสาหกิจเกษตรแปลงใหญ่ เพื่อเพิ่มพูนรายได้เกษตรกรที่ได้วางแผนปฏิบัติการจนถึงฤดูกาลผลิตปี 2563 โดยระดับกระทรวงฯ ให้ประสานความร่วมมือกับภาคเอกชนผ่านกลุ่มสานพลังประชารัฐ คณะทำงานด้านการพัฒนาการเกษตรสมัยใหม่ (D.6) เพื่อขอให้ช่วยเหลือด้านบทบาทกระบวนการผลิตและการตลาด โดยจัดทำรายละเอียดข้อเสนอรูปแบบการลงทุนร่วม การจับคู่ธุรกิจ หรือดำเนินธุรกิจการเกษตรแปลงใหญ่ภายใต้ พ.ร.บ. ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ. 2560 ทั้งนี้ต้องฝึกอบรมแนวทางบริหารจัดการแก่เจ้าหน้าที่ระดับจังหวัด และให้อพก. จ. วางระบบบริหารโครงการในพื้นที่
“แผนปฏิบัติการดังกล่าววางไว้ต่อเนื่องจนถึงเดือนมีนาคม 2563 เนื่องจากต้องติดตามและประเมินผลทุกขั้นตอน โดยมอบหมายสำนักงานเศรษฐกิจและการเกษตร (สศก.) รวบรวมข้อมูลทั้งผลผลิตต่อไร่ ต้นทุนการผลิต ความเหมาะสมในการใช้เครื่องจักรกลสมัยใหม่มาใช้ เพื่อลดต้นทุนการผลิตของพืช ปศุสัตว์ สัตว์น้ำพร้อมระบุสายพันธุ์และข้อมูลสภาพเศรษฐกิจและสังคมของเกษตรกรสมาชิกธุรกิจการเกษตรแปลงใหญ่ทุกคนและทุกครอบครัวที่เข้าร่วมโครงการว่ามีรายได้ทั้งในและนอกภาคเกษตร หนี้สิ้น โครงการอื่นของภาครัฐที่เข้าร่วม ในทุกพื้นที่ ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ ระหว่างดำเนินโครงการ และเสร็จสิ้นการเก็บเกี่ยวในแต่ละปีเพื่อสร้างฐานข้อมูลไว้ใช้เสนอแนะแนวทางขยายผลโครงการฯ ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ” นายกฤษฎา กล่าว.-สำนักข่าวไทย