กรุงเทพฯ 7 ก.พ. – รก.ผู้ว่าฯ รฟท.ปลุกคนรถไฟเร่งพัฒนาองค์กร หลังรัฐเทเม็ดเงินลงทุนระบบราง ทั้งรถไฟทางคู่รถไฟฟ้า และรถไฟความเร็วสูงหลายแสนล้าน ย้ำต้องเปลี่ยนวิธีทำงาน ไม่เช่นนั้นอีก 4 ปีจะมีหนี้สะสมเฉียด 2 แสนล้านบาท
นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวในงาน “Change to Future ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอนาคตใหม่รถไฟไทย” ซึ่งในการประชุมมีคณะกรรมการ รฟท. สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจและพนักงานเข้าร่วมกว่า 1,000 คน โดยย้ำถึงความจำเป็นที่พนักงานต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาองค์กรทุกด้านปรับเปลี่ยนการทำงานให้มีความคล่องตัว และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลทุ่มเม็ดเงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระบบรางจำนวนมาก เช่น รถไฟทางคู่ระยะแรกกว่า 100,000 ล้านบาท รถไฟชานเมืองสายสีแดงอีกกว่า 100,000 ล้านบาท และรถไฟความเร็วสูงกว่า 170,000 ล้านบาท
นายวรวุฒิ กล่าวว่า หากคนรถไฟไม่เปลี่ยนแปลงการทำงานภาครัฐคงต้องขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในองค์กรแน่นอนจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบุคคลเข้ามาทำงานด้านระบบรางแทนคนรถไฟปัจจุบัน ซึ่งจะไม่ดีต่อคนรถไฟ รวมทั้งการดำเนินการตามผลประกอบการ ซึ่งมีหนี้และขาดทุนสะสมกว่า 140,000 ล้านบาท หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงการเพิ่มรายได้และค่าใช้จ่ายในอีก 4 ปีข้างหน้า หรือปี 2566 รฟท.จะมีหนี้และขาดทุนสะสมเกือบ 200,000 ล้านบาท เมื่อถึงขณะนั้นอาจส่งผลกระทบต่อรายได้และสวัสดิการคนรถไฟแน่นอน
นอกจากนี้ คนรถไฟจำเป็นต้องปรับตัว เพื่อการทำงานระบบรถไฟรูปแบบใหม่ที่จะถูกนำมาใช้ในประเทศ ไม่ว่ารถไฟชานเมืองสายสีแดงที่กำลังเตรียมเปิดให้บริการต้นปี 2564 รถไฟทางคู่สายใหม่ ซึ่งปี 2566 จะมีโครงการเสร็จรวม 11 โครงการ ระยะทางกว่า 1,681 กิโลเมตร รวมถึงรถไฟความเร็วสูงที่อยู่ระหว่างขับเคลื่อนในปัจจุบัน โดยปี 2572 จะมีรถไฟความเร็วสูงเสร็จรวม 5 โครงการ ระยะทาง 1,274 กิโลเมตร ประกอบด้วย รถไฟความเร็วสูง เส้นทางอู่ตะเภา-ระยอง, กรุงเทพฯ-พิษณุโลก, นครราชสีมา-หนองคาย, กรุงเทพฯ-หัวหิน และพิษณุโลก-เชียงใหม่ วงเงินลงทุนรวม 232,411 ล้านบาท ดังนั้น รฟท.จึงมีภารกิจต้องเร่งเพิ่มบุคลากรและพัฒนาบุคลากรให้ทันเทคโนโลยีระบบรางที่จะเข้ามา.-สำนักข่าวไทย