ญี่ปุ่น 1 ก.พ.62- คณะผู้บริหารจากการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) นำโดย นายอภิชาติ จีระพันธุ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในฐานะหัวหน้าคณะ พร้อมด้วย คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล กรรมการโอลิมปิกระหว่างประเทศ (ไอโอซีเมมเบอร์) และ ดร.ก้องศักดิ ยอดมณี ผู้ว่าการ กกท. เดินทางศึกษาดูงาน ที่สถาบันวิทยาศาสตร์การกีฬาแห่งประเทศญี่ปุ่น (JISS) และศูนย์ฝึกกีฬาแห่งชาติญี่ปุ่น (Ajinomoto National Training Center : Ajinomoto NTC) ระหว่างวันที่ 30 ม.ค.-1 ก.พ.62 โดยเมื่อวันที่ 31 ม.ค. คณะผู้บริหารวงการกีฬาของไทย ได้ไปยังศูนย์ฝึกกีฬาแห่งชาติ (Ajinomoto NTC) พร้อมรับชมวีดีทัศน์และประชุมร่วมกับผู้บริหารศูนย์ฝึกกีฬาฯ และสำรวจสถานที่ต่างๆ มี มร.ยาซูฮิโระ นากาโมริ ผู้อำนวยการฝ่ายกีฬา เป็นวิทยากรบรรยายและพาเยี่ยมชมสนามฝึกซ้อม อาทิ มวยสากลสมัครเล่น, มวยปล้ำ, แฮนด์บอล, ยูโด และแบดมินตัน
ดร.ก้องศักด ยอดมณี กล่าวว่า การได้มาเยี่ยมชมศูนย์ฝึกกีฬาแห่งชาติญี่ปุ่น ถือเป็นประโยชน์กับเราอย่างยิ่งเพราะศูนย์ฝึกแห่งนี้มีลักษณะคล้ายคลึงกับศูนย์ฝึกกีฬาแห่งชาติ ที่ กกท. กำลังดำเนินการอยู่ โดยเฉพาะในแง่ของสถานที่ตั้งในเมือง ซึ่งมีพื้นที่จำกัด ไม่เหมือนของประเทศเกาหลีใต้ ที่มีลักษณะใหญ่และกว้างขวาง อย่างไรก็ตาม แม้ Ajinomoto NTC จะมีเล็กแต่ก็สามารถรองรับนักกีฬาและชนิดกีฬาได้หลายประเภท ซึ่งขณะนี้ญี่ปุ่นกำลังขยายให้รองรับได้ถึง 20 ชนิดกีฬา โดยจะนำนักกีฬามาเก็บตัวฝึกซ้อม ดูแลครอบคลุมทั้งเรื่องวิทยาศาสตร์การกีฬาและโภชนาการ ซึ่งคณะของไทย มีโอกาสได้เยี่ยมชมโรงอาหารและลองรับประทานทานอาหารของที่นี่ พบว่า นักกีฬาจะกินอาหารไม่เหมือนกัน แต่ทุกคนจะมีข้อมูลของตัวเองว่าขาดอะไร ต้องเพิ่มอะไร และจากข้อมูลทั้งหมดเราจะพยายามนำไปปรับใช้ เพื่อให้ศูนย์ฝึกกีฬาแห่งชาติของไทย มีระดับเดียวกับญี่ปุ่นต่อไป
“เราได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์จากที่นี่มากมาย อาทิ ญี่ปุ่นจะปรับอุปกรณ์ รวมถึงเวลาฝึกซ้อม อากาศ และความดันให้เหมือนกับประเทศที่จะเดินทางไปแข่งขัน อย่างในกีฬาโอลิมปิกเกมส์ 2016 ที่ประเทศบราซิล ซึ่งมีเวลาแตกต่างกันถึง 11 ชั่วโมง ทางญี่ปุ่นก็ให้นักกีฬาทั้งหมดฝึกซ้อมกันในตอนกลางคืน ถือเป็นเทคนิกการปรับตัวที่ยอดเยี่ยมมาก” บิ๊กก้อง กล่าว
ผู้ว่าการ กกท. กล่าวอีกว่า ตอนนี้ศูนย์ฝึกกีฬาแห่งชาติของไทย ยังอยู่ในช่วงนับหนึ่ง ซึ่งเราจะใช้ญี่ปุ่น ที่ทดลองผิดถูกมานานเป็นต้นแบบ ขณะนี้กำลังเสนอเรื่องผ่านคณะรัฐมนตรี (ครม.) อีกครั้ง และกำลังหาผู้ออกแบบก่อสร้าง คาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการประมาณ 3-4 ปี เราคงได้ศูนย์ฝึกกีฬาแห่งชาติที่สมบูรณ์แบบเพื่อใช้พัฒนาทัพนักกีฬาไทยต่อไป
ทางด้าน คุณหญิงปัทมา กล่าวว่า สิ่งที่ประทับใจจากการมาดูครั้งนี้คือข้อมูลที่ได้รับมา โดย 41 เหรียญ ที่นักกีฬาญี่ปุ่น ทำได้ในโอลิมปิกเกมส์ 2016 นั้น 40 เหรียญมาจากนักกีฬาที่ฝึกจากศูนย์ฝึกกีฬาแห่งชาติญี่ปุ่น ส่วนอีก 1 เหรียญได้จาก แคนู ที่ฝึกต่างประเทศ อีกอย่างคือห้องโภชนาการที่ละเอียดยิบ อาหารที่นักกีฬาเลือกทาน จะมีเครื่องวัดพลังงานว่าได้กี่แคลอรี มีสารอาหารอะไรบ้าง เพื่อนำไปประมวลผลและปรับใช้ ข้อมูลเหล่านี้เป็นประโยชน์ยิ่งสำหรับเรา จากนี้เรามีโปรแกรมไปดูศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬา ที่กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ ซึ่งเป็น 1 ใน 3 แห่ง นอกจากเกาหลีใต้และญี่ปุ่น ที่อยู่ใกล้และได้มาตรฐานที่สุดในเอเชีย อีกด้วย.-สำนักข่าวไทย.