รพ.ตำรวจ 1 ก.ย.-แพทย์ที่ปรึกษาคณะกรรมการมาตรฐานการช่วยชีวิต ยันพบตับแตกจากการกู้ชีวิต เพียงร้อยละ 0.1หากตับแตกต้องซี่โครงหักร่วมด้วย ส่วนจะทราบได้ว่าตับแตกจากการกู้ชีพหรือไม่ ต้องรอนิติเวชชันสูตร ดูกลีบของเนื้อตับ
พ.ต.อ.นพ.โสภณ กฤษณะรังสรรค์ ที่ปรึกษาคณะกรรมการมาตรฐานการช่วยชีวิต สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตามปกติไม่ค่อยพบการเสียชีวิต ตับแตกจากการปั๊มหัวใจกู้ชีพ หากพบก็น้อยกว่า ร้อยละ1 ซึ่งการปั๊มหัวใจด้วยการกดกลางหน้าอก เริ่มมีในปี 2502 ที่จอห์นออฟกิ๊นส์ สหรัฐอเมริกา การปั๊มหัวใจกู้ชีพ ต้องมีทักษะที่แตกต่าง ซึ่งปัจจุบันมีการอบรมในหน่วยกู้ชีพกู้ภัยครบทั้งหมดแล้ว โดยทักษะที่จะถูกสอน ผู้ใหญ่จะใช้ 2 มือปั๊มหัวใจกลางอก เด็ก 12 ปี ใช้มือเดียวในการปั๊มหัวใจ เด็กเล็กใช้ 2 นิ้ว ปั๊มหัวใจกลางอก ใช้น้ำหนักในตัวกดในการปั๊ม ไม่ผ่อนแรงน้ำหนักของผู้ที่จะกู้ชีพ ทำ 30 ครั้ง ติดต่อกัน 18 วินาที
ทั้งนี้ การพบตับแตก จะเกิดขึ้นต้องสอดคล้องกับซี่โครงหักด้วย จะมาซี่โครงหักอย่างเดียวไม่ได้ และหากมีโรคประจำตัว ทั้งตับโต ไขมันพอกตับก็ไม่มีความเกี่ยวข้องกับการกู้ชีพ และในกรณีที่ผู้ต้องการความช่วยเหลือด้วยการกู้ชีพ จากการผูกคอตายนั้น ต้องช่วยเหลือภายใน 4 นาที เพราะมิเช่นนั้นก็จะสมองตาย
อย่างไรก็ตามการช่วยชีวิต ต้องเข้าใจว่าทำด้วยความหวังดี มีเจตนาในการช่วยเหลือผู้อื่น และแม้ไม่ช่วยผู้ประสบเหตุก็มีโอกาสเสียชีวิต การช่วยเหลือส่วนใหญ่จะทำกันอย่างเต็มที่ และจะพยายามมากที่สุด โดยจะทำกันเป็นทีม
สำหรับการจะทราบว่าตับแตกจากการกู้ชีพหรือไม่ ต้องรอให้แพทย์นิติเวช เป็นผู้ชันสูตร โดยสามารถดูได้ จากรอยแตกหรือกลีบของตับ ว่าเฉียงไปในทิศทางใด เพราะการปั๊มหัวใจ ไม่มีทางที่ซี่โครงจะไปกระแทกตับอย่างแน่อนอน .-สำนักข่าวไทย