นิติเวชฯ 2 ก.ย.-แพทย์นิติเวช ย้ำต้องตรวจสอบกรณีการเสียชีวิตเจ้าหน้าที่ที่ดินพังงา อย่างละเอียด ดูทั้งกลีบของเนื้อตับว่ามีรอยฉีกขาดด้านใด และปริมาณเลือดในช่องท้อง จึงจะสามารถระบุว่าชัดว่า เสียชีวิตจากอะไร
นพ.อุดมศักดิ์ หุ่นวิจิตร หัวหน้าภาควิชานิติเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงกรณีการเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่ที่ดินจังหวัดพังงา ที่กำลังเป็นข้อถกเถียงในสังคม ว่า ปกติการเสียชีวิตแบบมีเงื่อนงำ ต้องมีการตรวจสอบอย่างละเอียด ยิ่งเป็นกรณีที่อยู่ในระหว่างการดูแลหรือควบคุมของเจ้าหน้าที่รับ จำเป็นต้องมีการตรวจสอบอย่างละเอียดและรอบคอบมากยิ่งขึ้น เพื่อให้ความเป็นธรรมกับเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ และป้องกันคำครหา
นพ.อุดมศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า ตามหลักวิชาการ การเสียชีวิตจากการกู้ชีพ ปั๊มหัวใจ ด้วยการ CPR มีโอกาสจะทำให้ตับแตกได้ แต่ก็เป็นในส่วนน้อย จากการตรวจสอบข้อมูล ในวารสารการแพทย์การปฏิบัติการกู้ชีพ ในเดือน ธันวาคม 2014 ที่มีการรวบรวมเคสการเสียชีวิต บาดเจ็บ หลังจากเจ้าหน้าที่พยายามได้ให้การช่วยเหลือกู้ชีพ จำนวนกว่า 200 เคส ด้วยกัน พบว่า การปั๊มหัวใจด้วยมือ หรือการ CPR จะทำให้กระดูกหน้าอก หักหรือแตกได้ถึงร้อยละ 54.2 ซี่โครงหักได้มากถึง 1-6 ซี่ ถึงร้อยละ 64.6 มีเลือดออก ปอดฉีกขาดได้ถึงร้อยละ 2.4 มีการบาดเจ็บของหัวใจ เยื่อหุ้มหัวใจ ได้ถึงร้อยละ 2.4 เยื่อบุหัวใจ ร้อยละ 8.4 กล้ามเนื้อหัวใจ ร้อยละ 2.4 ตับแตกหรือฉีดได้ร้อยละ 1.2
สำหรับระยะเวลา 1เดือนที่แพทย์นิติเวช ตรวจสอบสาเหตุการเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่ที่ดินจังหวัดพังงานั้น เชื่อว่าจะต้องมีการตรวจสอบอย่างละเอียด ทั้งการตรวจสอบหาสารพิษ หรือยาที่ทำให้หมดสติ เป็นไปตามระเบียบ ร่วมถึงการใช้ยาร่วมด้วย เพราะตามปกติของภาวะตับแตก หรือ บอบช้ำ สามารถเกิดขึ้นได้แต่ไม่ใช่สาเหตุการเสียชีวิต ต้องดูข้อมูลอย่างละเอียด ร่วมทั้งการใช้ยา ปริมาณเลือดที่ออกในช่องท้อง หากมาจากตับแตกหรือบอบช้ำ จากการกู้ชีพ กลีบตับด้านซ้าย จะมีรอยฉีกขาด แต่เลือดออกจะน้อยกว่า 100 ซีซี แต่หากมีการรับประทานยาร่วมทั้งแอสไพริน หรือยาละลายหลิ่มเลือดก็อาจทำให้เลือดออกมากได้ แต่หากเป็นการถูกทำร้าย เนื้อตับก็อาจมีรอยฉีกเกิดขึ้นได้ทั้งหมด และแพทย์นิติเวช ยังสามารถระบุได้ว่า ตับได้รับการบาดเจ็บก่อนการเสียชีวิตได้หรือไม่ โดยดูจากภาวะของเลือดที่ออกในช่องท้อง แต่ทั้งนี้ เข้าใจเรื่องสรีระของช่องท้อง ว่าเป็นกล้ามเนื้อการถูกกระแทกจากภายใน ย่อมไม่เห็นร่องรอยการบาดเจ็บ แต่ภายในเป็นก้อนเนื้ออาจได้รับการกระทบการเทือนได้ ขณะเดียวกันไม่ควรละเลยจากพยานหลักฐานแวดล้อม อาทิ ผิวหนังในซอกเล็บของผู้ตาย เพราะจะช่วยเป็นการยืนยันว่าผู้ตายอยู่ลำพังหรือไม่
นพ.อุดมศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ส่วนการที่ผู้ต้องหาส่วนใหญ่ใช้ถุงเท้าทำการฆ่าตัวตายในห้องขังนั้น ก็ต้องมีการตรวจสอบอย่างละเอียด ทั้งความยาวของถุงเท้า การยืดหดของถุงเท้าเพราะการผูกคอสามารถทำได้ในทุกลักษณะ และเข้าใจว่าการผูกคอตาย เป็นการฆ่าตัวตายที่มีต้นทุนต่ำ เป็นการหาอุปกรณ์ใกล้ตัวที่ง่ายที่สุด ทั้งนี้ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เจ้าหน้าที่รัฐต้องเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น เพื่อไม่ให้ผู้ต้องขัง ทำการอัตวินิบาตกรรมได้ .-สำนักข่าวไทย