กรุงเทพฯ 24 ม.ค. – กพช.ผ่านแผนพีดีพีฉบับใหม่ เน้นย้ำค่าไฟฟ้าต่ำดึงดูดการลงทุน จับตา RATCH จะได้สัญญาโรงไฟฟ้าภาคตะวันตก 1,400 เมกะวัตต์หรือไม่
นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ หรือ กพช.ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเห็นชอบแผนพัฒนากำลังไฟฟ้าระยะยาว 20 ปี หรือพีดีพี 2018 (2561-2580) โดยประมาณการค่าไฟฟ้าถูกลงกว่าแผนเดิม ราคาขายปลีกใหม่จะอยู่เฉลี่ยที่ 3.58 บาทต่อหน่วย และ กพช.ให้ศึกษาเพิ่มเติมว่าการใช้ระบบสายส่งพลังงานทดแทนรูปแบบใหม่ Grid Modernization จะทำอย่างไรให้ค่าไฟฟ้าถูกลงอีก เพื่อจูงใจการลงทุนโดยเฉพาะพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยมอบให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ศึกษาเสร็จสิ้นภายในปีนี้ควบคู่กับการจัดตั้งศูนย์กลางซื้อขายไฟฟ้า (Grid connection) ในภูมิภาคนี้ เพื่อเป็นการเชื่อมโยงขายไฟฟ้าระหว่างกัน
โดยตามแผนพีดีใหม่จะมีกำลังผลิตใหม่รวม 56,431 เมกะวัตต์ จากที่คาดการณ์ว่ากำลังผลิตสิ้นปี 2560 อยู่ที่ 46,090 เมกะวัตต์ และจะเพิ่มเป็น 77,211 เมกะวัตต์ ปลายปี 2580 โดยจะมีโรงไฟฟ้าปลดระวางครบอายุ 25,310 เมกะวัตต์ ขณะที่มีโรงไฟฟ้าตามนโยบายการส่งเสริมของภาครัฐ ในช่วงปี 2561 – 2580 ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าขยะ 400 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าชีวมวลประชารัฐ 120 เมกะวัตต์ รวม 520 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนตามแผน AEDP ประกอบด้วย ชีวมวล 3,376 เมกะวัตต์ ก๊าซชีวภาพ 546 เมกะวัตต์ พลังงานแสงอาทิตย์ 10,000 เมกะวัตต์ พลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ 2,725 เมกะวัตต์ พลังงานลม 1,485 เมกะวัตต์ ขยะอุตสาหกรรม 44 เมกะวัตต์ กำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ 18,176 เมกะวัตต์
สำหรับสัดส่วนการผลิตพลังงานไฟฟ้าแยกตามประเภทเชื้อเพลิง ณ ปี 2580 ที่ไม่ได้มาจากเชื้อเพลิงฟอสซิล มีสัดส่วนร้อยละ 35 คือ พลังน้ำต่างประเทศ (ร้อยละ 9) พลังงานหมุนเวียน (ร้อยละ 20) การอนุรักษ์พลังงาน (ร้อยละ 6) สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินลดลงเหลือร้อยละ 12 การปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) จะสอดคล้องกับข้อตกลงของ COP21 ณ ปี 2580 เท่ากับ 0.283 kgCO2/kWh หรือ 103,845 พันตัน ส่วนโครงการโซลาร์รูฟท็อปภาคประชาชนจะมีการส่งเสริมผลิตและจะมีการรับซื้อเบื้องต้นเข้าระบบปีละ100 เมกะวัตต์ เป็นเวลา 10 ปี
ขณะเดียวกันเห็นชอบแผนการดำเนินการต่อสัญญาเอสพีพีระบบโคเจนเนอเรชั่นที่สิ้นสุดสัญญาทั้ง 25 โรงไฟฟ้า โดยเน้นให้ใช้เชื้อเพลิงเดิมและขยายระยะเวลาการก่อสร้างที่เหมาะสม ส่วนโรงไฟฟ้าที่จะต้องเร่งเสริมความมั่นคงในภาคใต้ ทดแทนโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ถูกคัดค้านนั้น กพช.เห็นชอบให้ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ 1,400 เมกะวัตต์ และให้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าภาคตะวันตก 1,400 เมกะวัตต์ โดยให้ กฟผ.ร่วมทุนกับเอกชนบนเงื่อนไขต้องก่อสร้างเสร็จใน 4 ปี และค่าไฟฟ้าต้องถูกกว่าโรงที่ก่อสร้างใหม่ เพราะจะสร้างในพื้นที่เดิม คือ ทดแทนโรงไฟฟ้าไตรดินเนอร์ยี่ของ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรี (RATCH) ที่กำลังจะหมดสัญญา ส่วน RATCH จะได้สัญญานี้หรือไม่ ก็ต้องเจรจาต่อไป โดยโครงการนี้จะเป็นลักษณะการเจรจาไม่ใช่เปิดประมูล.- สำนักข่าวไทย