ดอนเมือง 17 ม.ค.-รมว.พม.ปาฐกถาพิเศษ มุ่งขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ ‘สังคมผู้สูงอายุ’ ดึงภาคีเครือข่ายร่วมแก้ปัญหาความรุนแรงต่อผู้สูงอายุ ขณะที่งานวิจัย พม.พบผู้สูงอายุส่วนใหญ่ถูกกระทำความรุนแรงด้านจิตใจมากที่สุด
พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) กล่าวปาฐกถาพิเศษในเวทีเสวนาสาธารณะ เรื่อง “การคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุ: ปัญหาและการจัดการ” โดยความร่วมมือระหว่างกรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
พล.อ.อนันตพร กล่าวว่า ด้วยข้อมูลของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จากการศึกษาวิจัยสถานการณ์ความรุนแรงและการละเมิดสิทธิต่อผู้สูงอายุไทย พบว่า ปัญหาความรุนแรงและการละเมิดสิทธิผู้สูงอายุที่พบมากที่สุด คือ ปัญหาความรุนแรงด้านจิตใจ โดย 1 ใน 4 ของผู้สูงอายุให้ข้อมูลว่าเคยถูกกระทำความรุนแรงด้านจิตใจ เช่น พูดไม่ดี ทะเลาะ ทำให้เสียใจ น้อยใจ บางครั้งผู้สูงอายุรู้สึกว่าลูกหลานไม่เข้าใจ ไม่มีเวลาให้ และไม่เป็นคนสำคัญ ในครอบครัว
อันดับที่ 2 คือการทอดทิ้ง ไม่ดูแล อีกทั้งข้อมูลสถิติจากกระทรวงฯโดยศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน1300 พบว่าจากเดิมที่มีการแจ้งข้อมูลปัญหาผู้สูงอายุพลัดหลง สูญหาย และเร่ร่อนเป็นอันดับ 1 ในขณะที่ปัจจุบันพบปัญหาผู้สูงอายุขาดผู้ดูแล ในระยะ3 ปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นเป็น 10 เท่า รวมทั้งปัญหาลูกหลานไม่สามารถดูแลผู้สูงอายุได้ อีกทั้งสถานสงเคราะห์ของผู้สูงอายุมีจำนวนจำกัด และอันดับ 3 คือการเอาประโยชน์ในด้านทรัพย์สิน โดยคนในครอบครัวเอาทรัพย์สินไป
พล.อ.อนันตพร กล่าวด้วยว่า รัฐบาลเล็งเห็นความสำคัญของสถานการณ์ปัญหาทางสังคมดังกล่าวที่เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “สังคมสูงอายุ” โดยกำหนดยุทธศาสตร์การรองรับสังคมสูงอายุอย่างมีคุณภาพ ด้วยการส่งเสริมให้เกิดการเตรียมความพร้อมในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพ
สำหรับการคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุนั้น ถือเป็นประเด็นสำคัญยิ่งประการหนึ่ง โดย พม.เป็นหน่วยงานหลักที่ให้การช่วยเหลือผู้สูงอายุที่ได้รับความเดือดร้อนและได้รับอันตรายจากการถูกกระทำความรุนแรง ถูกแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมาย หรือการถูกทอดทิ้ง รวมถึงการให้คำแนะนำปรึกษาปัญหาครอบครัว และการเก็บรวบรวมข้อมูลสถิติสถานการณ์ปัญหาการกระทำความรุนแรงในครอบครัว
นอกจากนี้ พม.พร้อมบูรณาการความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐเอกชน และประชาสังคม ให้มีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกระทำความรุนแรงต่อผู้สูงอายุ เพื่อรองรับการสร้างสังคมผู้สูงอายุอย่างมีคุณภาพในระยะยาวต่อไป .-สำนักข่าวไทย