บางขุนนนท์ 11 ม.ค. – รมว.เกษตรฯ เร่งเดินหน้าโครงการถนนยางพารา เชิญ อบจ.ทั่วประเทศทำความเข้าใจเกี่ยวกับแบบ สูตรส่วนผสมก่อสร้าง ราคากลาง และการนำงบประมาณท้องถิ่นมาดำเนินการ เพื่อส่งเสริมการใช้ยางพาราในประเทศ ยกระดับราคายางพาราให้สูงขึ้น
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อประชาสัมพันธ์ชี้แจงโครงการ 1 หมู่บ้าน 1 กิโลเมตร ซึ่งจัดขึ้นที่การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) โดยวันนี้มีนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และปลัด อบจ.ทั่วประเทศเข้าร่วมประชุม เพื่อรับทราบข้อแนะนำการก่อสร้างถนนดินซีเมนต์ปรับปรุงคุณภาพด้วยยางพารา (Para Soil Cement) สำหรับงานถนนท้องถิ่น ซึ่งกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบทได้นำคู่มือการก่อสร้าง การออกแบบส่วนผสม (Job Mix Formolar) มามอบให้ พร้อมตอบข้อสงสัยทุกประเด็น นอกจากนี้ยังเชิญผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินมาชี้แนะเกี่ยวกับการดำเนินงานตามกฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ในการสร้างถนนยางพาราตามนโยบายส่งเสริมการใช้ยางพาราในภาครัฐ
นายกฤษฎา กล่าวว่า กยท.รายงานข้อมูลล่าสุดว่ามี อบจ.หลายจังหวัดเริ่มดำเนินการแล้ว ทั้งนี้ การสร้างถนนสัญจรในชุมชนเป็นหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ส่วนการจัดสรรงบประมาณสร้างถนนขึ้นกับแต่ละ อบจ. ซึ่งจะต้องผ่านการพิจารณาของสภา อบจ.ก่อน ที่ผ่านมาตามที่รัฐบาลอนุมัติงบประมาณกลางปี 2561 (โครงการไทยนิยมยั่งยืน) เพื่อสนับสนุนการใช้ยางพาราในภาครัฐนั้น กระทรวงกลาโหมดำเนินการสร้างถนนชุมชนต่าง ๆ แล้วใน 30 จังหวัด สำหรับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์นั้น กรมชลประทานได้ดำเนินการสร้างถนนและคันคลองชลประทานใน 8 จังหวัด ประกอบด้วย สกลนคร กาฬสินธุ์ อุบลราชธานี นครพนม เพชรบุรี นครนายก ประจวบคีรีขันธ์ และปราจีนบุรี รวมระยะทาง 125.56 กิโลเมตร โดยคาดว่าจากการประชุมชี้แจงครั้งนี้จะได้รับความร่วมมือจาก อปท.จัดสรรงบประมาณมาดำเนินการก่อสร้างถนนที่มียางพาราเป็นส่วนผสมตามเป็นนโยบายของรัฐบาลที่ให้หาแนวทางเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราในประเทศ โดยถนนดินซีเมนต์ปรับปรุงคุณภาพด้วยยางพารามีความทนทานกว่าถนนดินลูกรังบดอัดแน่น ซึ่งทำกันอยู่เดิมถึง 3 ปี
นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท รองผู้ว่าการ กยท. กล่าวว่า อบจ.หลายจังหวัดส่งประเด็นข้อสงสัยเข้ามา เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจงในการประชุมวันนี้ ได้แก่ วิธีการตรวจสอบคุณภาพน้ำยางสด คุณสมบัติของวัสดุผสมได้แก่ ลูกรัง สารลดแรงตึงผิวที่ใช้ผสมน้ำยางสด เครื่องจักรกลที่ต้องใช้สำหรับก่อสร้าง อัตราส่วนผสมแต่ละพื้นที่กำหนดอย่างไร ต้องซื้อน้ำยางสดจากที่ใด รวมถึงการควบคุมและตรวจสอบคุณภาพงานก่อสร้าง รวมถึงการทดสอบมาตรฐานของถนนที่ก่อสร้างแล้ว ก่อนจะตรวจรับ ซึ่งวันนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะชี้แจงทุกคำถาม เพื่อให้ อบจ.ทั่วประเทศก่อสร้างเร็วที่สุด
ล่าสุด กยท.ได้รายงานการปรับตัวของราคายางพารา ซึ่งกระเตื้องสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่มีนโยบายส่งเสริมการใช้ยางพาราในภาครัฐ โดยราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2561 อยู่ที่กิโลกรัมละ 43.84 บาท ส่วนราคาปิดตลาดเมื่อวานนี้ (10 ม.ค.) อยู่ที่กิโลกรัมละ 45.53 บาท เพิ่มขึ้น 1.69 บาทต่อกิโลกรัม คิดเป็นร้อยละ 3.85.-สำนักข่าวไทย