สะพานขาว 7 ม.ค.-พม.ย้ำขอทานผิดกฎหมาย เตรียมชงลงโทษแบบขั้นบันได พร้อมประกาศ 6 จังหวัดปลอดขอทาน
พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมคณะกรรมการควบคุมการขอทาน ครั้งที่ 1/2562 ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาแผนขับเคลื่อนการควบคุมการขอทาน ฉบับที่1 พ.ศ. 2562–2564 ซึ่งจะมีกลไกและมาตราต่างๆ เพื่อมาลดจำนวนคนขอทาน โดยได้เน้นย้ำให้ดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ พร้อมทั้งให้มีการรายงานผลการดำเนินงานเป็นระยะ และได้รับทราบผลการดำเนินงานปี 2561 ที่พบว่าบางจังหวัดสามารถทำผลงานได้โดดเด่น อาทิ จ.นนทบุรี ที่จัดตั้งคณะกรรมการระดับอำเภอในอำเภอปากเกร็ด และยังขยายให้ครบทุกอำเภอ เพื่อสร้างเครือข่ายในการลดจำนวนคนขอทานในพื้นที่ให้มากที่สุด ส่วน จ.ตรังมีการฝึกอาชีพคนขอทาน จนสามารถประกอบอาชีพถาวรมีรายได้เลี้ยงครอบครัวอย่างยั่งยืน เป็นต้น ซึ่งเหล่านี้จะขยายผลให้เป็นตัวอย่างแก่จังหวัดอื่นๆต่อไป
พล.อ.อนันตพร กล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังรับทราบสถิติผู้แสดงความสามารถในที่สาธารณะ ปัจจุบันมีผู้มาลงทะเบียนไว้ 3,500 กว่าคน แต่ยังพบปัญหาว่าผู้ทำการแสดงความสามารถบางคน ยังไม่ค่อยให้ความสำคัญมาลงทะเบียน บางพื้นที่ที่ทำการแสดงก็เกิดการแย่งกัน จึงได้มอบหมายให้กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) ไปดำเนินการจัดระเบียบเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาและกระจายรายได้ให้ทั่วถึงกัน
อย่างไรก็ดี ที่ประชุมยังได้กำหนดพื้นที่นำร่องปลอดขอทาน จากเดิมดำเนินการแล้ว 11 จังหวัด มาเพิ่มอีก 6 จังหวัดในปี 2562 ประกอบด้วย จ.สิงห์บุรี ปราจีนบุรี ลำพูน พัทลุง บุรีรัมย์ และสุโขทัย ซึ่งจะมีกลไกและมาตรการขับเคลื่อนร่วมกับจังหวัดต่อไป
นอกจากนี้ ยังมอบหมายให้ พส.ทำหนังสือไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อแจ้งแนวทางการเปรียบเทียบปรับแก่พนักงานสอบสวน ตาม พ.ร.บ.ควบคุมการขอทาน พ.ศ.2559 มาตรา 19 ที่กำหนดโทษปรับผู้ฝ่าฝืนกระทำการขอทาน อัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ว่าในกรณีที่จับกุมซ้ำให้มีการปรับเป็นขั้นบันได ได้แก่ ครั้งที่ 1 ปรับ 500 บาท ครั้งที่ 2 ปรับ 2,000 บาท, ครั้งที่ 3 ปรับ 5,000 บาท และครั้งที่ 4 เป็นต้นไป ปรับ 10,000 บาท .-สำนักข่าวไทย