สำนักข่าวไทย 19 ธ.ค.- ยธ.ลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายครอบครัวเด็กหญิง 12ขวบ ถูกกลุ่มเด็กหรือเยาวชนรุมโทรม พร้อมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเยียวยาจิตใจ
นายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม (ยธ.) กล่าวถึงการให้ความช่วยเหลือเด็กหญิงวัย 12 ปีที่ถูกกลุ่มวัยรุ่นรุมโทรม ที่จังหวัดสระบุรีว่า กระทรวงยุติธรรมโดยสำนักงานยุติธรรมจังหวัดสระบุรี ได้ลงพื้นที่แจ้งสิทธิ์เพื่อให้เด็กและครอบครัวได้รับรู้ ว่าสามารถได้รับเงินค่าตอบแทนความเสียหายที่เกิดขึ้นเนื่องจากมีการกระทำความผิดอาญาของผู้อื่นตาม พระราชบัญญัติ ค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทน และค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ.2544 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งได้แจ้งสิทธิ์ไปแล้ว อยู่ในระหว่างที่พ่อแม่ผู้ปกครองของเด็กหญิงจะตัดสินใจ
รวมทั้งให้คำแนะนำช่วยเหลือปรึกษาข้อกฎหมาย เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีอาญาแผ่นดิน อัยการเป็นโจทก์ หากผู้ปกครองของเด็กหญิงต้องการเป็นโจทย์ร่วม ก็สามารถทำได้ และยังสามารถขอทนายความและค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีจากกองทุนยุติธรรมได้ รวมทั้งจะช่วยประสานกับหน่วยงานอื่น ในการให้ความช่วยเหลือเด็กหญิง ทั้งกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงศึกษาธิการเพราะเด็กหญิงที่ถูกกระทำและตกเป็นข่าวใหญ่โตไม่แน่ใจว่าจะกลับไปเรียนในโรงเรียนเดิมได้หรือไม่ รวมทั้งประสานกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เพื่อเข้าไปดูแลสภาพจิตใจ ซึ่งจะทำงานร่วมกันเป็นทีม
ส่วนขั้นตอนในการดำเนินคดีในกรณีนี้ซึ่งเหยื่อผู้ถูกกระทำและผู้กระทำเป็นเด็กและเยาวชนทั้งหมด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277วรรคสาม และวรรคสี่ บัญญัติว่า ผู้ใดกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกิน 13 ปี อันมีลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิง และเด็กนั้นไม่ยินยอม ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต
แต่เนื่องจากกลุ่มผู้ถูกกล่าวหาเป็นเด็กหรือเยาวชน จึงต้องดำเนินการตาม พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 คือ พนักงานสอบสวนต้องนำตัวเด็กหรือเยาวชนไปศาลเยาวชนฯ ในเขตอำนาจ เพื่อตรวจสอบการจับกุมทันที ภายในเวลา 24 ชั่วโมงนับแต่เวลาที่เด็กหรือเยาวชนไปถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบตามมาตรา 72 ซึ่งหากในกรณีที่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าการกระทำของเด็กหรือเยาวชนมีลักษณะหรือพฤติการณ์ที่อาจเป็นภัยต่อบุคคลอื่นอย่างร้ายแรง หรือมีเหตุสมควรประการอื่น ศาลอาจมีคำสั่งให้ควบคุมเด็กหรือเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดไว้ในสถานพินิจหรือในสถานที่อื่นที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายและตามที่ศาลเห็นสมควรได้
ขณะเดียวกันพนักงานสอบสวนต้องแจ้งให้ผู้อำนวยการสถานพินิจที่เด็กหรือเยาวชนนั้นอยู่ในเขตอำนาจ เพื่อดำเนินการสืบเสาะข้อเท็จจริงเพื่อเสนอความเห็นต่อศาลว่าควรใช้มาตรการใดจึงจะเหมาะกับเด็กเป็นรายบุคคลแม้กระทำความผิดร่วมกันตามมาตรา82 (1) หลังจากนั้นศาลจะพิจารณาเป็นการรับสวนพนักงานสอบสวนการสอบปากคำเด็กจะต้องมีนักจิตวิทยานักสังคมและสหวิชาชีพเข้าร่วมด้วยในระหว่างนี้ก็จะทำคู่ขนานกันไป
“ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจากการกระทำของเด็กและเยาวชนในครั้งนี้ถ้าเป็นอาการป่วยของคนถือว่าเป็นอาการป่วยขั้นรุนแรงเพราะว่าการข่มขืนกระทำชำเราในลักษณะของการรุมโทรมเป็นเรื่องใหญ่ เด็กจะบอกว่า เด็กไม่รู้กฎหมายไม่ได้ เด็กต้องรู้ ต่อเนื่องจากว่าเด็กสมัยนี้ไม่เหมือนกับเด็กสมัยก่อนเพราะเด็กสมัยก่อนมีตัวคัดกรองที่ดี คอยช่วยคัดกรองสิ่งที่ไม่ดีในการปกป้องเด็ก เช่น กิจกรรมที่แบบต้องทำร่วมกับคน 3 วัย คือบิดามารดา ปู่ย่าตายายและตัวเด็กเองช่วยกันดูแล แต่ปัจจุบันสังคมไม่ได้เป็นสังคมขยายเหมือนก่อนแล้ว พ่อแม่ต้องทำงาน ส่งเด็กไปสถานเลี้ยงเด็ก หรือพี่เลี้ยง ดังนั้นกิจกรรมทางศาสนาหรือกิจกรรมสามวัยก็จะลดลงรวมถึงสื่อต่างๆที่ทะลักเข้ามาอย่างมากมาย และความเป็นเด็กวุฒิภาวะยังไม่ถึงพร้อม ไม่สามารถแยกแยะว่าสิ่งใหนสีขาวสีเทาหรือสีดำ ดังนั้นเด็กแสดงออกถึงความรุนแรงก้าวร้าวไม่ใช่ความผิดของเด็กเพราะเด็กเกิดมาไม่เคยเป็นผู้ใหญ่มาก่อน แต่เป็นความผิดของผู้ใหญ่ที่เคยเป็นเด็กมาแล้วแต่มักไม่เข้าใจ เอาความคาดหวังและความต้องการของตัวเองเป็นตัวตั้งและไปกดดันที่เด็ด ไม่มีกระบวนการสอนที่ดี ไม่สอนให้คิดวิเคราะห์ไม่ใช้กระบวนการเสริมทักษะและเสริมพลัง ผลสุดท้ายพอเด็กแสดงอาการก้าวร้าวรุนแรงมาก็จะไปโทษเด็ก ดังนั้นถ้าจะให้แก้ปัญหาเด็กได้ ผู้ใหญ่ต้องปรับกระบวนทัศน์ในการดูแลเด็กใหม่” นายธวัชชัย กล่าว .-สำนักข่าวไทย