จ.ระยอง 18 ธ.ค.-รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเร่งรัดการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.)ชี้แจงทำความเข้าใจชาวบ้าน
หลังผลศึกษา EIA ถมทะเลยังไม่ผ่าน ยอมรับต่างชาติยังสนใจลงทุน
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าเพื่อประชุมกับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
หลังจากแผนการถมทะเลลึกนับพันไร่ เพื่อจอดเรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่
ยังไม่ผ่านการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและผลกระทบสุขภาพ (EIAและEHIA) รองรับโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด
ระยะที่ 3
แม้จะเปิดรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้านในพื้นที่ครบแล้วทั้ง 3 ครั้ง ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
(สผ.) ต้องใช้เวลาพิจารณาถึง 8 เดือน จนเกือบถึงสิ้นปีงบประมาณ
2562 อาจทำให้แผนการถมทะเลต้องปรับการใช้งบประมาณจากปี
2562-2563 เลื่อนไปเป็นปี 2563-2564
“ ต้องการให้ กนอ.เร่งทำความเข้าใจกับชาวบ้านเพิ่มเติม
โดยเฉพาะกลุ่มชาวประมง สร้างขึ้นมาแล้วประเทศได้ประโยชน์อย่างไร
ชาวบ้านในพื้นที่รับประโยชน์อย่างไร ยืนยันว่าเอกชนทั้งไทยและต่างชาติ
ยังสนใจโครงการลงทุน จึงไม่น่าเกิดปัญหา เพราะนักลงทุนไทย จีน ญี่ปุ่น เนเธอแลนด์
พร้อมเสนอการลงทุน โดยเฉพาะปตท. ที่ต้องการสร้างห้องเก็บความเย็นขนาดใหญ่
เป็นผลต่อเนื่องจากการกลั่นปิโตรเคมี เพื่อใช้เก็บรักษาผลไม้ในภาคตะวันออก
รองรับการจำหน่ายได้ตลอดทั้งปี และขณะนี้แผนการศึกษาคืบหน้าไปมาก เป็นที่น่าพอใจ”
นายอุตตม กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า
รูปแบบการลงทุนก่อสร้างท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 มูลค่าลงทุน 55,400
ล้านบาท เป็นแบบ PPP หรือรัฐร่วมลงทุนกับเอกชนที่ลงทุนก่อสร้างและดำเนินการทั้งหมด
โดยกนอ. จะร่วมลงทุน 12,900 ล้านบาท หรือร้อยละ 30 และเอกชนลงทุน 35,000 ล้านบาท ในส่วนของ กนอ. แบ่งจ่ายให้กับเอกชนเป็นรายปี
ๆ ละ 660 ล้านบาทเป็นเวลา 30 ปี
สำหรับเงินส่วนนี้เป็นค่าใช้จ่ายในการถมทะเลจำนวน 1,000 ไร่
เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและความจุในการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติ 10.8 ล้านตัน/ปี และสินค้าเหลว 4 ล้านตัน/ปี หวังสร้างให้เป็นท่าเรืออุตสาหกรรมในระดับภูมิภาค
คาดว่าหลังเปิดประมูลจะสรุปเอกชนผู้ร่วมทุนลงทุนในเดือนมกราคม ปี 2562
และจะเปิดดำเนินการได้ในปี 2568.-สำนักข่าวไทย