รัฐสภา 6 ก.ย. – “มีชัย” เผยยังตอบไม่ได้ว่าเมื่อร่างกฎหมายลูกเสร็จ กกต.จะเซ็ตซีโร่ หรือไม่ และยังไม่เห็นข้อเสนอ ให้มหาดไทยดูแลเลือกตั้งแทน กกต. ระบุเรื่องนี้ต้องดูผลดี ผลเสีย หลายแง่มุม หวั่นหากให้มหาดไทยคุม อาจถูกฝ่ายการเมืองแทรกแซง ด้าน “พล.อ.ประวิตร” ระบุยังไม่มีความชัดเจน
นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงกรณีศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญที่ กรธ. เสนอไปวันพรุ่งนี้ (7ก.ย.)ว่า ส่วนตัวไม่อยากคาดเดา หรือกังวลล่วงหน้า แต่ศาลมีเวลา 30 วันในการพิจารณา หากศาลเห็นควรให้ปรับแก้ก็ต้องกลับมาแก้ หากไม่ต้องแก้ก็เดินหน้าต่อไป
นายมีชัย กล่าวถึงข้อเสนอของ สปท. ที่จะให้กระทรวงมหาดไทยดูแลเลือกตั้งแทน กกต. ว่า ยังไม่เห็นสิ่งที่เสนอมา แต่ตามข้อเท็จจริง กกต. เป็นคนจัดและใช้เจ้าหน้าที่ทุกกระทรวงร่วมทำงาน จึงต้องดูข้อเสนอดังกล่าวว่ามีความมุ่งหมาย หรือจะเกิดผลดีผลเสียอย่างไร จะไปตัดอำนาจของ กกต. หรือไม่ ต้องดูหลายแง่มุม โดยอำนาจและบทบาทของ กกต. สามารถมอบหมายให้หน่วยงานราชการอื่น ๆ ช่วยดำเนินการเลือกตั้งได้ แต่ที่ผ่านมา กกต. ดำเนินการเองทั้งหมด
ส่วนข้อเสนอยุบกกต. จังหวัดนั้น ประธาน กรธ. กล่าวว่า ไม่มีระบุในร่างรัฐธรรมนูญ แต่เรื่องนี้จะไปบรรจุอยู่ในกฎหมายลูก ส่วนตัวตอบไม่ได้ว่าหากกฎหมายลูกเสร็จแล้ว กกต.จะเซ็ทซีโร่หรือไม่
“หากให้กระทรวงมหาดไทยมาดูแลการเลือกตั้ง ก็มีความเป็นไปได้ที่จะถูกแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองซึ่งก็น่ากังวล แต่ตามข้อเท็จจริงแล้วการเลือกตั้งที่ผ่านมาใช้คนของมหาดไทยมาช่วยเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นต้องไปดูรายละเอียดและพิจารณาผลดีผลเสียอีกครั้ง ผมเห็นว่าจะต้องเพิ่มบทบาทการทำงานของ กกต. ให้เป็นไปในเชิงรุก”นายมีชัย กล่าว และว่า หากได้รับร่างกฎหมายลูกจาก กกต. จะจัดสัมมนาโดยเชิญทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาเสนอแนะ หรือท้วงติง ก่อนจะเอาไปเขียนเป็นร่างฉบับสมบูรณ์
นายมีชัย กล่าวถึงกรณีที่ สนช.จะไปศึกษากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายลูกล่วงหน้าระหว่างรอ กรธ. ส่งมาว่า จะส่งร่างกฎหมายลูกให้ สนช. พิจารณาได้หลังจากรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ ทั้งนี้หากสนช. จะปรับแก้ในส่วนกฎหมายลูก ก็สามารถทำได้ แต่หากองค์กรอิสระ หรือ กรธ. เห็นว่าการแก้ไขดังกล่าวขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและทักท้วงก็จะต้องตั้งคณะกรรมาธิการร่วม 11 คนขึ้นมาพิจารณาแก้ไข หากการแก้ไขนั้นสนช. ไม่เห็นด้วยจะต้องใช้เสียง 2 ใน 3 เพื่อให้กลับมาใช้ฉบับแก้ไขของสนช. แต่หากเสียงไม่ถึง 2 ใน 3 ต้องใช้ฉบับที่คณะกรรมการร่วมพิจารณา
ด้านพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวง กลาโหม กล่าวถึงข้อเสนอของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่จะให้กระทรวงมหาดไทยเข้ามาจัดการเลือกตั้ง ว่า เรื่องนี้ยังไม่มีความชัดเจน ส่วนตัวเห็นว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะการจัดการเลือกตั้งเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รับผิดชอบอยู่แล้ว แต่อาจมีความจำเป็นที่จะขอยืมบุคคลากรจากหน่วยงานอื่นมาช่วยงาน เช่น นักศึกษาวิชาทหาร (รด.) ส่วนการเลือกตั้งครั้งต่อไปจะมีรูปแบบเช่นเดียวกับการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ หรือไม่ ขึ้นอยู่กับ กกต.เป็นผู้พิจารณาและให้ความชัดเจน ทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยังไม่มีการหารือเรื่องนี้ .-สำนักข่าวไทย