กรมอุทยานฯ 7 ก.ย.-กรมอุทยานฯ ร่วมกับกรมประมง เตรียมปล่อยม้าน้ำคืนสู่ธรรมชาติครั้งแรก เป็นม้าน้ำดำที่ไซเตสจัดอยู่ในระดับน่าห่วงใยอย่างเร่งด่วน จำนวน 100 ตัว เชิญนานาชาติร่วมเห็นเจตนารมณ์ของไทย
นายเกษมสันต์ จิณณวาโส ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ในฐานะประธานคณะกรรมการอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (ไซเตส) ประจำประเทศไทย แถลงว่า ประเทศไทยจากความร่วมมือของกรมประมงและกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์ุพืช ในการฟื้นฟูประชากรม้าน้ำ ในแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ มีความก้าวหน้าน่าพอใจ โดยกรมประมงสามารถเพาะพันธุ์ม้าน้ำ3 ชนิดที่ไซเตส จัดให้อยู่ระดับน่าห่วงใยอย่างเร่งด่วน คือ ม้าน้ำดำ ม้าน้ำยักษ์ และม้าน้ำหนาม โดยเตรียมปล่อยคือสู่ธรรมชาติ นำร่องรอบแรกในเขตอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จังหวัดตรัง จำนวน 100 ตัวในวันที่ 17 กันยายนนี้
ทั้งนี้ จะเชิญรัฐมนตรี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ เอกอัครราชทูตประเทศต่างๆรวมทั้งคณะอนุกรรมการไซเตสร่วม เพื่อให้เห็นถึงเจตนารมย์ของประเทศไทยในการฟื้นฟูมาน้ำในแหล่งธรรมชาติอย่างจริงจัง
นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า ได้เลือกพื้นที่อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จ.ตรัง และเกาะช้าง จ.ตราดเป็นพื้นที่นำร่องในการฟื้นฟูและปล่อยประชากรม้าน้ำคืนสู่ธรรมชาติ เนื่องจากมีแหล่งหญ้าทะเลที่อุดมสมบูรณ์โดยให้เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม เตรียมอุปกรณ์ กรงไก่ขนาด 1 เมตรเป็นที่อยู่อาศัยของม้าน้ำในระยะแรก จนกว่าม้าน้ำจะเกาะเกี่ยวหญ้าทะเลและอยู่ได้ด้วยตัวเอง พร้อมเตรียมทำเรื่องเสนอให้ม้าน้ำทั้ง 3 ชนิดนี้เป็นสัตว์คุ้มครองต่อไป
ด้านนางอุมาพร พิมลบุตร รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่ากรมประมงยังคงห้ามส่งออกม้าน้ำทั้ง 3 ชนิดต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี 2559 ซึ่งคาดว่าจะทำให้ความต้องการของม้าน้ำที่ชาวประมงจะจับส่งออกลดน้อยลง ขณะเดียวกันกำลังเร่งวิจัยและเพาะขยายพันธุ์ ให้ได้จำนวนมากที่สุด โดยตั้งเป้าปีละ 100,000 ตัว โดยปัญหาอุปสรรคคือต้องอาศัยพ่อแม่พันธุ์จากธรรมชาติซึ่งค่อนข้างหายาก โดยเมื่อพ่อพันธุ์ได้แล้วจะเร่งปล่อยคืนสู่ธรรมชาติทันทีมั่นใจว่ามีอัตรารอดสูง
ทั้งนี้ ม้าน้ำ มีการนำมาใช้ประโยชน์อย่างมากโดยเฉพาะในแถบเอเชียซึ่งมีความเชื่อว่ามีคุณสมบัติทางยาจึงนำมาใช้เป็นองค์ประกอบของยาในการรักษาโรคต่างๆและเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ ทำให้แนวโน้มความต้องการเพิ่มขึ้นจนเกรงว่าอาจสูญพันธุ์ได้ จนทำให้ไซตสต้องควบคุมและจำกัดปริมาณการค้า
ในส่วนของประเทศไทย ข้อมูลของกรมประมงพบว่า มีการส่งออกมาน้ำตั้งแต่ปี 2556 จำนวน 1.2 ตัน ,ปี 2557 จำนวน 1 ตันและปี 2558 ลดลงเหลือ 9500 กิโลกรัม และได้ประกาศให้งดออกใบอนุญาตส่งออกม้านำเป็นการชั่วคราวเพื่อแก้ไขปัญหาการส่งออกม้าน้ำของประเทศไทย.-สำนักข่าวไทย