กรุงเทพฯ 7 ก.ย. – พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยอมรับโรงไฟฟ้า “กระบี่” อาจล่าช้า หลัง กรรมการไตรภาคีลาออก ด้าน กฟผ.แจง ทำรายงาน EHIA อย่างถูกต้อง ระบุยังไม่มีแผนสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่ อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ พร้อมเดินหน้านำระบบแบตตเตอรีพลังงานทดแทนมาใช้ที่ ไฟฟ้าลำตะคอง
พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ได้รับทราบกรณีนางเรณู เวชรัชต์พิมล กรรมการไตรภาคีสัดส่วนภาคประชาชนได้ลาออกจากคณะกรรมการไตรภาคีเพื่อพิจารณาโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่อาจทำให้การพิจารณามีความล่าช้าออกไป เบื้องต้นทราบว่สเหตุผลเพราะไม่ยอมปฏิบัติตามคำแนะนำ ซึ่งเรื่องนี้จำเป็นต้องฟังเสียงส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตามสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ที่มีอำนาจในการดูแลเรื่องดังกล่าวซึ่งก็เชื่อว่าที่สุดจะมีการแต่งตั้งคนใหม่ขึ้นมาแทนเพื่อให้องค์ประชุมครบและทำงานได้ต่อไป
นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี รองผู้ว่าการกิจการสังคม ในฐานะโฆษก การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)กล่าวว่า การที่นางเรณูลาออก พร้อมทั้งได้ตั้งข้อสังเกตและข้อสงสัย ในการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ในหลายประเด็น โดยขอชี้แจงว่ารายงาน EHIA ได้มอบหมายให้ผู้เชี่ยวชาญ คือ บริษัทที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อมที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย ร่วมกับคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล เก็บข้อมูลในพื้นที่ทั้งในรัศมี 5 กิโลเมตร และพื้นที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งเป็นการเก็บข้อมูลทั้งภาคสนาม และสอบถามจากบุคคลที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ การดำเนินการดังกล่าว ยังเป็นไปตามแนวทางที่สำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติกำหนด
“การตรวจสอบความครบถ้วน ยังมีกระบวนการประกอบด้วย การรับฟังความคิดเห็นประชาชน(ค.3) การพิจารณาของ คชก. องค์กรอิสระ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ซึ่งจะเห็นได้ว่า ที่ผ่านมา มีการตรวจสอบและปรับปรุงเพิ่มเติม ทั้งในกระบวนการจัดทำ ค.3 และการพิจารณาของ คชก.”นายสหรัฐกล่าว
สำหรับ ข้อห่วงใยเรื่องการเก็บข้อมูลพื้นฐานสารโลหะหนักนั้น เป็นเรื่องที่ กฟผ. ได้จัดทำไว้ในรายงาน EHIA ด้วยแล้ว รวมทั้งมีการประเมินการตกสะสมของโลหะหนักในสิ่งมีชีวิตตลอดอายุดำเนินการโรงไฟฟ้า 30 ปี ซึ่งจากการศึกษา ในพื้นที่โครงการพบการสะสมของโลหะหนักน้อยมาก ส่วนการประเมินผลกระทบต่อพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม พื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่ และประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจของโครงการทาง กฟผ. ได้ทำการศึกษาเพิ่มเติม นำเสนอแก่คณะอนุกรรมการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมฯ แล้ว และจะนำเสนอแก่ คชก. เพื่อพิจารณาต่อไป
ส่วนกรณีชุมชนทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ ยื่นหนังสือสนับสนุนโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ ทางภาครัฐ และ กฟผ. ยังมิได้พิจารณาเรื่องดังกล่าว ปัจจุบันพื้นที่ทับสะแกได้เดินหน้าโครงการวิจัยพัฒนาพลังงานหมุนเวียนเท่านั้น
วานนี้ (6 กันยายน 2559) กฟผ. ลงนามสัญญางานจัดซื้อและจ้างก่อสร้างโครงการกังหันลมผลิตไฟฟ้าลำตะคอง ระยะที่ 2 กับ บริษัทไฮโดรไชน่า และลงนามสัญญางานจัดซื้อและจ้างก่อสร้างโครงการพัฒนาเสถียรภาพในการผลิตไฟฟ้าจากกังหันลม กับกิจการค้าร่วม ไฮโดรเจนิกส์ ยุโรป เอ็น.วี และบริษัท พระราม 2 การโยธา จำกัด ในโครงการกังหันลมผลิตไฟฟ้าลำตะคอง ระยะที่ 2 ขนาดกำลังผลิตติดตั้งรวม 24 เมกะวัตต์ รวมมูลค่างานก่อสร้างโรงไฟฟ้ากว่า 1,407 ล้านบาท คาดกำหนดแล้วเสร็จสามารถจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ ในเดือนตุลาคม 2560 โดยนำเทคโนโลยีใหม่ในการกักเก็บพลังงานไฟฟ้าด้วยระบบ Wind Hydrogen Hybrid System มาใช้ในการผลิตไฟฟ้าร่วมกับเทคโนโลยีเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell) ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย รวมมูลค่าการก่อสร้าง 234.5 ล้านบาท โดยมีกำหนดแล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2560 นับเป็นการพัฒนาให้การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมีความเสถียร และพร้อมจ่ายไฟฟ้าได้อย่างมั่นคงตลอดทุกช่วงเวลา –สำนักข่าวไทย