กรุงเทพฯ 29 พ.ย. – ก.ล.ต.ยืนยัน สช.ไม่ห้ามการเข้าจดทะเบียน SISB พร้อมให้ข้อมูลศาลปกครอง
ตามที่ปรากฏข่าวว่ามีผู้ไปยื่นคำร้องต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้มีการระงับการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ของบริษัท เอสไอเอสบี จำกัด (มหาชน) หรือ SISB นั้น นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ก.ล.ต.พร้อมที่จะให้ข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณาของศาล
ทั้งนี้ ก่อนการพิจารณาอนุญาต IPO ก.ล.ต.ได้มีการหารือและส่งหนังสือสอบถามไปยังสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลและกำหนดนโยบายเกี่ยวกับการศึกษาของโรงเรียนเอกชน (lead regulator) ว่า SISB สามารถดำเนินการออกและเสนอขายหลักทรัพย์ได้หรือไม่ และในวันที่ 24 ตุลาคม 2561 สช.มีหนังสือตอบ ก.ล.ต. ว่า ตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 ไม่มีข้อห้ามหรือข้อจำกัดในการดำเนินการดังกล่าว อีกทั้งในการหารือ สช.ก็มิได้เคยปรากฏว่า สช.มีข้อสังเกตเกี่ยวกับการที่ SISB จะออกและเสนอขายหลักทรัพย์แต่อย่างใด
ดังนั้น เมื่อ ก.ล.ต.ได้พิจารณาคุณสมบัติและพิจารณาการเปิดเผยข้อมูลของ SISB ตามกฎเกณฑ์ภายใต้ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ แล้ว พบว่า SISB มีคุณสมบัติตามที่กำหนด จึงไม่มีเหตุที่ ก.ล.ต.จะปฏิเสธคำขอของ SISB ได้ ก.ล.ต.จึงมีคำสั่งอนุญาตไปเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2561 และต่อมา SISB ได้เสนอขายหลักทรัพย์เสร็จสิ้นไปเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2561
ทั้งนี้ แนวทางการพิจารณา IPO ของ ก.ล.ต.นั้น จะพิจารณาคุณสมบัติของผู้ขอระดมทุนตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี ซึ่งเน้นความโปร่งใสและดูแลให้มีการเปิดเผยข้อมูลที่เพียงพอต่อผู้ลงทุน ซึ่งในกรณีที่มีข้อสังเกตว่าสถาบันการศึกษาไม่ควรมุ่งหวังผลกำไรเป็นหลักนั้น ก.ล.ต.ได้มีการสอบถามประเด็นดังกล่าว ซึ่ง SISB ได้ชี้แจงและเปิดเผยในหนังสือชี้ชวนว่า SISB มีวัตถุประสงค์หลักที่ต้องการพัฒนาการศึกษาและยกระดับมาตรฐานการศึกษาในประเทศไทยให้ทัดเทียมกับระดับสากล โดยไม่ได้มุ่งแสวงหาผลกำไรสูงสุด และมีการระบุถึงบทบัญญัติของ พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 ซึ่งกำหนดอำนาจของ สช. ว่า ในกรณีที่เห็นว่าค่าธรรมเนียมการศึกษาและค่าธรรมเนียมอื่นที่โรงเรียนกำหนดมีลักษณะเป็นการแสวงหากำไรเกินควร หรือเป็นภาระแก่ประชาชนเกินสมควร สช.มีอำนาจสั่งให้ลดลงตามที่เห็นสมควรได้.-สำนักข่าวไทย