เชียงราย 26 พ.ย.- หน่วยจัดการต้นน้ำขุนลาว จ.เชียงราย ใช้กระบวนการสร้างความมีส่วนร่วม ดึงชุมชนในป่าเป็นเครือข่ายร่วมอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ พร้อมกับพัฒนาอาชีพและคุณภาพชีวิต ทำให้ชาวบ้านห้วยน้ำกืน สามารถอยู่กับป่าได้อย่างยั่งยืน
ชาวบ้านและนักท่องเที่ยวออกมาทำบุญตักบาตรตอนเช้า บ้างก็นั่งเตรียมเครื่องไม้เครื่องมือถักสานตามภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นวิถีชีวิตชุมชนบ้านห้วยน้ำกืน ชุมชนดั้งเดิมในผืนป่าอุทยานแห่งชาติขุนแจ อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย
บ้านห้วยน้ำกืน เป็นชุมชนดั้งเดิมที่อยู่ในเขตป่าต้นน้ำ ทำให้ต้องควบคุมดูแลอย่างเหมาะสม หน่วยจัดการต้นน้ำขุนลาวใช้วิธีสร้างความมีส่วนร่วมและพัฒนาคุณภาพชีวิตไปพร้อมกับการอนุรักษ์ป่าไม้และต้นน้ำ
ผอ.สำนักอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำ บอกว่า ชาวบ้านและเจ้าหน้าที่จะทำข้อตกลงร่วมกัน ในกติกาที่จะไม่บุกรุกหรือทำลายป่าไม้และแหล่งน้ำ จากนั้นเสริมพัฒนาอาชีพเปลี่ยนการปลูกพืชเชิงเดี่ยว แทนที่ด้วยพืชท้องถิ่นที่สร้างมูลค่ามากกว่า อย่างต้นชาอัสสัมสายพันธุ์พื้นเมือง ปลูกในพื้นที่ของตนเองหรือใต้ต้นไม้ในป่า โดยไม่ใช้สารเคมีที่อาจกระทบดินและแหล่งน้ำ เพื่อรักษาแหล่งปลูกชาสินค้าสร้างชื่อสร้างรายได้ของชุมชน ทำให้คนกับป่าอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน
ยอดสดใบชาอัสสัม ขายได้กิโลกรัมละ 700-800 บาท นำมาแปรรูปขายได้ราคาสูงกิโลกรัมละกว่า 3,000 บาท เป็นสินค้าที่มียอดสั่งซื้อตลอดทั้งปี ยังมีไม้ดอกส่งขายโครงการหลวง แหล่งกาแฟอินทรีย์บ้านขุนลาวที่มีคุณภาพติดระดับโลก รวมทั้งพัฒนาเป็นกลุ่มโฮมสเตย์ให้นักท่องเที่ยวได้พักผ่อนใกล้ชิดธรรมชาติ เป็นรายได้ที่ไม่จำเป็นต้องกระทบกับป่าธรรมชาติ
บ้านห้วยน้ำกืนและบ้านขุนลาว เป็นต้นแบบของการพัฒนาชุมชนให้สามารถอยู่ร่วมกับป่า เอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน ซึ่งจะเป็นอีกแนวทางรักษาทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน.-สำนักข่าวไทย