ดีเอสไอ 20 พ.ย..- กลุ่มเสียหาย หุ้นเอิร์ธ ร้องดีเอสไอตรวจสอบการทุจริตปล่อยกู้เอิร์ธ
พ.ท.นพ.จรูญศักดิ์ เธียรประพันธ์ และนายอนุสรณ์ ศิวะกุล พร้อมด้วยผู้เสียหายจำนวนหนึ่งจากการลงทุนหุ้นกู้ บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัดหรือ เอิร์ธ(EARTH) ที่ปลอมแปลงใบตราส่งสินค้าทางเรือ (Bill of lading-B/L) นำเข้าถ่านหินจากประเทศอินโดนีเซีย มาใช้เป็นหลักฐานในการกู้เงินจากธนาคารกรุงไทย ทำให้ผู้ถือหุ้นกู้ได้รับความเสียหาย ยื่นหนังสือต่อ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ขอให้เร่งรัดดำเนินคดีกรณีปัญหาของบริษัท เอิร์ธ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีพ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ รองโฆษกดีไอสไอ เป็นผู้รับหนังสือแทน
พ.ท.นพ.จรูญศักดิ์ กล่าวว่า ธนาคารกรุงไทยได้ตรวจสอบความผิดปกติเรื่องดังกล่าวเมื่อปี 2554 และปล่อยให้เรื้อรังมาถึงปี 2558 โดยตรวจพบความผิดปกติ 2 รอบทั้งกรณีหุ้นกู้ รวมความเสียหาย 9,500 ล้านบาท และหุ้นบีอีอีก 8 พันล้านบาท มีผู้ถือหุ้นได้รับผลกระทบ 2,800 คน ซึ่งผู้ที่นำเงินมาลงทุนเพราะเชื่อว่ากรุงไทยเป็นหน่วยงานรัฐ มีความน่าเชื่อถือ และเงินที่ลงทุนไปจะได้รับความคุ้มครอง แต่เมื่อเกิดเหตุดังกล่าวกลุ่มผู้เสียหายพยายามทวงถามเรื่องดังกล่าวกับทางธนาคารกรุงไทย ทุกครั้งจะได้คำตอบว่าอยู่ระหว่างดำเนินการทั้งๆ ที่ควรเร่งตรวจสอบให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และไม่มีคำตอบว่าจะเยียวยาอย่างไร
โดยเมื่อช่วงเช้ากลุ่มผู้เสียหายได้ไปที่ธนาคารกรุงไทย ยื่นคำร้องพร้อมทวงถามความคืบหน้าการส่งผลการตรวจสอบภายในให้ดีเอสไอพิจารณา เนื่องจากปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมาประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ของธนาคารกรุงไทย ได้ออกมาเปิดเผยถึงขบวนการปล่อยสินเชื่อของธนาคารให้แก่บริษัทฯ ว่ามีการตรวจพบบุคลากร การกระทำผิดทุกระดับหลายขั้นตอน พร้อมทั้งแจ้งว่าธนาคารกรุงไทยจะรายงานผลการตรวจสอบต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และดีเอสไอ แต่จนถึงวันนี้ธนาคารกรุงไทยยังไม่สรุปผลส่งให้ดีเอสไอ ทั้งที่ผ่านการฟื้นฟูกิจการมาแล้วถึง 2 ปี ซึ่งผู้บริหารธนาคารกรุงไทยแจ้งว่าจะเร่งส่งผลสรุปให้ดีเอสไอภายในสิ้นปีนี้ กลุ่มผู้เสียหายจึงรวมตัวกันยื่นคำร้องขอให้ดีเอสไอเร่งรัดสรุปสำนวนคดี รวมทั้งขอให้เร่งติดตามผลการตรวจสอบภายในของธนาคารกรุงไทย เพื่อนำมาประกอบการดำเนินคดีให้รวดเร็วสามารถนำผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ตามกฎหมาย
ด้านพ.ต.ต.วรณัน กล่าวว่า คดีนี้ดีเอสไอรับไว้เป็นคดีพิเศษและการสอบสวนมีความคืบหน้าไปมาก การสอบสวนพยานหลักฐานในประเทศเกือบครบถ้วนหมดแล้ว เหลือเพียงหลักฐานข้อมูลทางการเงินบางส่วนที่อยู่ในต่างประเทศ ซึ่งจะประสานในช่องทางตามสนธิสัญญาความร่วมมือทางอาญา (Mutual Legal Assistance Treaty-MLAT) เพื่อขอข้อมูล ส่วนที่ผู้เสียหายยื่นคำร้องเพิ่มเติมในวันนี้จะส่งให้พนักงานสอบสวนเจ้าของสำนวนพิจารณา โดยจากการตรวจสอบเบื้องต้นผู้เสียหายต้องการให้ดีเอสไอตรวจสอบการทุจริตของพนักงานธนาคารกรุงไทยเพิ่มเติมด้วย
ขณะที่ พ.ต.อ.ไพสิฐ กล่าวว่า ดีเอสไอรับเรื่องร้องเรียนกรณีนี้ไว้หลายเรื่อง โดยสำนวนคดีอยู่ในความรับผิดชอบของกองคดีการเงิน ทั้งคดีการปลอมใบตราส่งสินค้าถ่านหินที่กรุงไทยเป็นผู้เสียหาย รวมถึงคดีที่คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) เป็นผู้เสียหาย โดยกรณีนี้มีเรื่องร้องเรียน 2 พฤติกรรมใหญ่ คือ คดีปลอมใบขนสินค้าถ่านหิน มูลค่า 1,800 ล้านบาท และคดีสร้างเจ้าหนี้เทียม ซึ่งการสอบสวนได้แตกย่อยเป็นหลายฐานความผิด โดยคดีที่ธนาคารกรุงไทยร้องทุกข์กล่าวโทษมีความเสียหาย 1,800 ล้านบาท ตามจำนวนการตรวจสอบพบใบขนสินค้าที่มีการปลอมแปลง ในส่วนความเสียหายอื่นๆ ยังไม่มีการกล่าวโทษ.-สำนักข่าวไทย