สิงคโปร์ 15 พ.ย. – นายกฯประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 13 หวังทุกประเทศร่วมมือกันผลักดันกรอบEAS ป้องกันปัญหาที่จะส่งผลกระทบต่อภูมิภาค
“จิตตานันท์ นิกรยานนท์” ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวไทย ที่ติดตามภารกิจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 33 ที่สาธารณรัฐสิงคโปร์ ระหว่างวันที่ 13-15 พฤศจิกายน 2561 รายงานว่า นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 13 ช่วงการประชุมเต็มคณะ (Plenary) ณ ศูนย์ประชุมและนิทรรศการ Suntec สาธารณรัฐสิงคโปร์
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไทยยินดีต่อการรับรองแผนปฏิบัติการฉบับใหม่ของการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก(EAS) ในปีนี้ ซึ่งแผนปฏิบัติการดังกล่าวจะช่วยกำกับดูแลความร่วมมือสาขาต่าง ๆ ที่มีอยู่จำนวน 9 สาขาให้ดำเนินไปอย่างราบรื่น ขณะเดียวกัน ไทยได้ร่วมกับจีนเป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการว่าด้วยเรื่องการแลกเปลี่ยนประสบการณ์เรื่องการค้นหาและกู้ภัยทางทะเล เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ประเทศที่เข้าร่วมอีเอเอสมีความเข้าใจเกี่ยวกับระบบการค้นหาและกู้ภัยทางทะเลของแต่ละฝ่ายมากยิ่งขึ้น เพื่อปูทางไปสู่ความร่วมมือที่ดีในอนาคต
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และอินโด-แปซิฟิก มีประชากรกว่าร้อยละ 50 ของประชากรโลก และสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเกือบร้อยละ 60 ของจีดีพีโลก จึงเป็นพลังขับเคลื่อนความเจริญทางเศรษฐกิจและความมั่นคงที่สำคัญของโลก อาเซียนต้องการเห็นภูมิภาคยังคงรักษาสถานะดังกล่าวและพัฒนาไปอย่างยั่งยืน เพื่อนำไปสู่การสร้างดุลยภาพใหม่ทางยุทธศาสตร์ (Strategic New Equilibrium) ในภูมิภาค บนพื้นฐานของหลักการ 3เอ็ม รวมทั้งมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย
“ไทยเชื่อมั่นว่า ความเชื่อมโยงที่ดีในภูมิภาค เป็นตัวแปรที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำและนำโอกาสมาสู่ทุกภาคส่วน ขณะเดียวกันต้องต่อยอดการ “เชื่อมโยงยุทธศาสตร์ความเชื่อมโยงต่าง ๆ” ทั้งด้านกายภาพ ดิจิทัล กฎระเบียบ ความเชื่อมโยงระหว่างประชาชน โดยใช้แผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน (เอ็มแพค – MPAC) เป็นพื้นฐานเชื่อมโยงกรอบภูมิภาคและอนุภูมิภาค” นายกรัฐมนตรี กล่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปัญหาความท้าทายด้านความมั่นคง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการก่อการร้าย อาชญากรรมทางไซเบอร์ ปัญหาในคาบสมุทรเกาหลี ยังคงเป็นประเด็นที่ภูมิภาคจะต้องร่วมมือกัน ขณะนี้ปัญหาการก่อการร้ายและอาชญากรรมทางไซเบอร์ทวีความรุนแรงและพัฒนารูปแบบที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้นด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ถือเป็นภัยคุกคามต่อหน่วยงานภาครัฐ ภาคธุรกิจและประชาชนทั่วไป ซึ่งต้องการความร่วมมือระหว่างประเทศที่แข็งขัน ทันท่วงทีและความรับผิดชอบร่วมกันอย่างบูรณาการและเป็นระบบ รวมทั้งการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมเพื่อหยุดยั้งปัญหาที่ต้นเหตุ ไม่ให้อาชญากรรมทางไซเบอร์ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม และความเป็นอยู่ของประชาชนทั่วไป
สำหรับปัญหาคาบสมุทรเกาหลี นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไทยยินดีกับพัฒนาการเชิงบวกของคาบสมุทรเกาหลีและผลการประชุมสุดยอดผู้นำเกาหลี ยินดีที่ทุกฝ่ายร่วมมือกันทำให้สถานการณ์บนคาบสมุทรเกาหลีในปัจจุบันลดความตึงเครียดลงอย่างมาก สอดคล้องกับนโยบายของไทยที่มุ่งหวังให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องแก้ปัญหาโดยสันติตามช่องทางการทูต ไทยชื่นชมบทบาทของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่อกระบวนการสันติภาพนี้ และพร้อมสนับสนุนเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง
“ส่วนปัญหาขยะทะเล เป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ไทยสนับสนุนถ้อยแถลงผู้นำการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกว่าด้วยการต่อต้านปัญหาขยะพลาสติกทะเล ซึ่งหลายประเทศรวมทั้งไทย ให้ความสนใจและดำเนินกิจกรรมอย่างสม่ำเสมอ โดยหวังว่า ความร่วมมือดังกล่าวจะพัฒนาต่อไปในกรอบการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก เพื่อรักษาระบบนิเวศน์ทางทะเลให้มีความสมดุลอย่างยั่งยืน.-สำนักข่าวไทย