สำนักงาน กกต. 13 พ.ย.- “แสวง” แจงพรรคการเมืองยังตั้งตัวแทนประจำจังหวัดไม่ได้ จนกว่าจะมีการประกาศเขตเลือกตั้ง เตรียมเชิญพรรคการเมืองประชุมครั้งที่ 4 สาธิตมินิไพรมารี่โหวต พรรคการเมืองโอด คนรุ่นใหม่ คนจบนอก พบปัญหาไม่ได้เสียภาษีติดต่อกัน 3ปี อาจหมดสิทธิ์ลงสมัคร
นายแสวง บุญมี รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประชุมชี้แจงพรรคการเมืองจัดตั้งใหม่ 7 พรรค ประกอบด้วย พรรคคลองไทย พรรคแผ่นดินธรรม พรรคประชาธรรมไทย พรรคประชานิยม พรรคเศรษฐกิจใหม่ พรรคพลังประชารัฐ และพรรคไทยรุ่งเรือง
นายแสวง กล่าวว่า เมื่อได้รับการรับรองเป็นพรรคการเมืองแล้ว สามารถดำเนินกิจการการเมืองภายใต้คำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 และ 13/2561 อนุญาตไว้ 6 กิจกรรม เพื่อเตรียมความพร้อมในการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส่วนกิจกรรมอื่น ๆ ต้องแจ้ง กกต.ก่อนดำเนินการไม่น้อยกว่า 5 วัน ถ้าพรรคต้องการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งให้เริ่มรับสมัครสมาชิกได้ทันที และหากต้องการส่งผู้สมัครทั่วประเทศต้องมีตัวแทน 77 จังหวัด หรือมีสมาชิกจังหวัดละ 101 คน จำนวนที่ปลอดภัยคือควรมีสมาชิกไม่น้อยกว่า 8,000 -10,000 คน เพราะมีโอกาสที่สมาชิกจะซ้ำซ้อนกัน เนื่องจากทุกพรรคเริ่มหาสมาชิกพร้อมกัน และประชาชนอาจลืมว่าสมัครเป็นสมาชิกพรรคอื่นไปแล้ว ขณะนี้ฐานข้อมูลของ กกต.มีข้อมูลสมาชิกพรรค 120,000 คน หลังจากนี้ กกต.จะทำหนังสือถึงพรรคการเมืองให้รายงานข้อมูลสมาชิกเพิ่มเติมทุก ๆ วันศุกร์ของสัปดาห์ มาให้กกต.ตรวจสอบ เพื่อป้องกันการซ้ำซ้อน เพราะถ้าชื่อสมาชิกซ้ำกันจะถือว่าเสียสมาชิกทั้งสองพรรค
นายแสวง กล่าวว่า ในการหาสมาชิกขอให้แจ้ง กกต.ก่อนลงพื้นที่ 5 วัน เพราะขณะนี้ยังมีเจ้าหน้าที่ความมั่นคงดูแลในพื้นที่ต่าง ๆ การแจ้งมายัง กกต. ก็ให้เป็นตั๋วแสดงให้เจ้าหน้าที่เห็นว่าแจ้ง กกต.แล้ว และอย่ากระทำฝ่าฝืนกฎหมาย เช่น การจ้าง ให้เงินทรัพย์สิน หรือให้ประโยชน์อื่นใด โทษถึงขั้นยุบพรรค
นายแสวง ยังกล่าวด้วยว่าในการประชุมเชิงปฏิบัติการระหว่าง กกต.กับพรรคการเมือง ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 22 พฤศจิกายนนี้ เป็นการประชุมครั้งที่ 4 จุดมุ่งหมายเพื่อให้พรรคดำเนินการจัดตั้งสาขา หาสมาชิก และส่งผู้สมัครได้อย่างถูกต้อง อย่าเอาสำนักงานไปพันพัวกับเครื่องมือทางการเมือง ในวันกล่าวจะจัดเวิร์คช๊อปสาธิต จึงขอให้พรรคการเมืองมาเข้าร่วมรับฟัง โดยเฉพาะเรื่องมินิไพรมารี่ ซึ่งซับซ้อนพอสมควร
นายแสวง ยังกล่าวถึงการจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองว่า การดำเนินการของ กกต.ทำไปตามลำดับการยื่นจดทะเบียน ไม่มีการข้ามลำดับ กกต.ทำงานเต็มที่โดยไม่เอื้อประโยชน์ให้กับพรรคใดพรรคหนึ่ง และจดจัดตั้งพรรคภายใต้มาตรฐานเดียวกันทั้งหมด โดยพรรคไทยรุ่งเรืองใช้เวลาน้อยที่สุดรวม 20 วัน กกต.จดจัดตั้งพรรคบนมาตรฐานเดียวกัน แต่ทำได้เร็วขึ้นเพราะมีการเรียนรู้ปัญหาร่วมกันกับพรรคการเมือง ทั้งนี้เพื่อให้ทันการเลือกตั้งที่อาจจะมีขึ้นในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 โดยพรรคสุดท้ายยื่นจดจัดตั้งในวันที่ 7 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เป็นพรรคลำดับที่ 37
“ขณะนี้ กกต.จดจัดตั้งไปแล้ว 25 พรรค ยืนยันว่าอีก 12 พรรคที่เหลือส่งผู้สมัครทันแน่นอน รวมถึงพรรคที่ยื่นจดจัดตั้งก่อนวันที่ 26 พฤศจิกายน ก็จะส่งผู้สมัครทันเช่นกัน เพื่อให้มีพรรคการเมืองหลากหลายและประชาชนมีทางเลือกมากที่สุด สำหรับพรรคที่ยื่นจดจัดตั้งหลังวันที่ 26 พฤศจิกายน ต้องยอมรับว่าถึงอย่างไรก็ไม่ทันกรอบ 90 วัน” นายแสวง กล่าว
นายแสวง ยังกล่าวถึงเรื่องการจัดตั้งสาขาและตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด โดยขอให้เข้าใจว่า การตั้งสาขา 4 ภาค เป็นคนละเรื่องกับการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งครั้งแรก โดยในการเลือกตั้งครั้งแรกถ้าพรรคการเมืองเดิมมีสาขาประจำจังหวัดอยู่แล้ว จะสามารถพิจารณาให้ความเห็นส่งผู้สมัครได้ทุกเขตในจังหวัดนั้นเท่านั้น ไม่ได้ทุกเขต ทุกจังหวัดที่อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของสาขา ส่วนพรรคใหม่ที่ยังไม่มีการจัดตัดตั้งสาขาแนะนำให้ตั้งตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด ซึ่งการจัดตั้งตัวแทนประจำจังหวัด ถ้าเขตเลือกตั้งใดในจังหวัดนั้น มีสมาชิกที่มีภูมิลำเนาในเขตนั้นตั้งแต่101 คนขึ้นไป ก็ตั้งตัวแทนประจำจังหวัดได้เลย แต่ขณะนี้พรรคยังตั้งตัวแทนประจำจัหวัดไม่ได้ จนกว่า กกต.ประกาศเขตเลือกตั้ง
รองเลขาธิการ กกต.ระบุด้วยว่า สำหรับประเด็นรายได้ของพรรคการเมืองจะมาจากทุนประเดิม ค่าบำรุงพรรคที่ได้จากสมาชิก 50-100 บาท ค่าขายสินค้าที่ระลึก และเงินบริจาค ซึ่งในส่วนของเงินบริจาครับได้จากกรรมการบริหารพรรคเท่าที่จำเป็น หากจะรับบริจาคจากบุคคลอื่นต้องขออนุญาตก่อน รวมถึงกรณีเงินระดมทุน ด้วยการจัดทอล์คโชว์ขายโต๊ะ จัดคอนเสริต์ การขายสินค้าที่ระลึกของพรรคทำได้เลย อย่าพูดเหมาหรือนำเรื่องระดมทุน ขายสินค้าที่ระลึก และรับบริจาคไปปนกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวิเชียร ชวลิต นายทะเบียนพรรคพลังประชารัฐ ซักถามถึงประเด็นหน้าที่พรรคตรวจสอบคุณสมบัติสมาชิก แต่ในแบบทะเบียนกำหนดให้พรรครับรองความถูกต้องของสมาชิก ถ้ารับรองแล้วต่อมาตรวจสอบว่าขาดคุณสมบัติพรรคจะมีความผิดด้วย ซึ่งเป็นการออกระเบียบเกินกฎหมายและผลักภาระมาให้พรรค โดยนายแสวง ยอมรับว่า กฎหมายดังกล่าวเป็นภาระของพรรคการเมือง ทำให้หลายพรรคกังวลว่าหัวหน้าพรรคอาจจะร่วงเพราะต้องเซ็นต์รับรองความถูกต้องของสมาชิก ซึ่งประเด็นนี้สำนักงานอยู่ระหว่างปรับปรุงประกาศฉบับนี้ เพื่อไม่ให้งานธุรการเป็นอุปสรรคขัดขวางพรรคการเมือง
นอกจากนี้ยังมีประเด็นคำถามจากพรรคประชานิยม ว่า ขณะนี้ยังไม่มี พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง ทำให้ข้าราชการตำรวจที่สนใจร่วมอุดมการณ์การเมืองกับพรรคไม่สามารถลาออกมาสมัครสมาชิกพรรคได้ เนื่องจากไม่สามารถระบุเหตุผลในการลาออกว่าจะมาลงสมัครรับเลือกตั้ง การที่ยังไม่สามารถลาออกเพื่อมาสมัครสมาชิกพรรค จะมีผลต่อคุณสมบัติของผู้สมัครที่ต้องสังกัดพรรค 90 วัน นอกจากนี้ยังพบว่าผู้สนใจจะลงสมัคร ส.ส.กับพรรคบางส่วนที่เรียนพึ่งจบ อยู่เมืองนอก ไม่เคยเสียภาษีติดต่อกัน 3 ปี ก็อาจจะทำให้ขาดคุณสมบัติ ซึ่งคำถามนี้รวมไปถึงพรรคอื่นที่ระบุว่าจะมีประชาชน ซึ่งไม่ได้เป็นผู้ต้องเสียภาษีมาลงสมัครก็จะมีปัญหาด้วย
นายแสวงชี้แจงว่า ข้าราชการมีสิทธิสมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมืองได้ ส่วนประเด็นการยื่นแสดงหลักฐานการเสียภาษีนั้น กกต.ประสานให้สรรพากรออกเอกสารรับรองการเสียภาษีย้อนหลัง 3 ปี ให้ผู้สมัครนำมาใช้ยื่นแสดง ซึ่งโดยปกติสรรพากรจะออกย้อนหลังให้เพียง 1 ปีเท่านั้น ส่วนกรณีนักศึกษาจบใหม่หรือผู้ที่มีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์เสียภาษีให้ติดต่อขอหนังสือรับรองจากกรมสรรพากรได้เช่นกัน เว้นแต่รายที่ไม่ไปยื่นเสียภาษีประจำปีแล้วจะไปขอชำระภาษีย้อนหลัง ซึ่งทำไม่ได้.-สำนักข่าวไทย