กรุงเทพฯ 10 ก.ย. -บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจำกัด สรุปสถานการณ์ตลาดทุนไทยรับสัปดาห์ที่ผ่านมา (5-9 ก.ย.) เงินบาทร่วงแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบเกือบ 1 เดือนที่ 34.83 บาทต่อดอลลาร์ฯ ส่วนหุ้นไทยดัชนี ลดลง 5.01% จากสัปดาห์
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด รายงานว่า เงินบาทเผชิญแรงเทขายในช่วงต้นสัปดาห์ สอดคล้องกับแรงขายสุทธิพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ และการปรับตัวลงของตลาดหุ้นไทย อย่างไรก็ดี เงินบาทฟื้นตัวขึ้นช่วงสั้นๆ กลางสัปดาห์ หลังข้อมูลดัชนี PMI ภาคบริการของสหรัฐฯ ที่ออกมาแย่กว่าที่คาด กระตุ้นให้มีแรงเทขายเงินดอลลาร์ฯ ออกมา เงินบาทกลับมาอ่อนค่าลงอีกครั้งในช่วงปลายสัปดาห์ เช่นเดียวกับทิศทางของสกุลเงิน และ sentiment ของตลาดหุ้นอื่นๆ ในเอเชียที่เผชิญแรงขาย หลังธนาคารกลางยุโรป ( ECB) ไม่ประกาศ และ/หรือส่งสัญญาณเกี่ยวกับมาตรการผ่อนคลายทางการเงินรอบใหม่ โดยวันศุกร์ (9 ก.ย.) เงินบาทอยู่ที่ 34.78 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 34.61 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ (2 ก.ย.)
ด้านดัชนีหุ้นไทยปรับร่วงลงตามแรงขายของนักลงทุนสถาบัน และบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ ประกอบกับตลาดหุ้นต่างประเทศก็ร่วงลง หลังผิดหวังกับผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป ที่ยังไม่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,445.28 จุด ลดลง 5.01% จากสัปดาห์ก่อน มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้น 21.32% จากสัปดาห์ก่อน มาที่ 67,407.54 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ MAI ปิดที่ 530.91 จุด ลดลง 10.18% จากสัปดาห์ก่อน
ตลาดหุ้นไทยปรับร่วงลงในสัปดาห์นี้ จากความกังวลของนักลงทุน รวมทั้งมีแรงเทขายทางเทคนิค หลังจากที่ดัชนี SET หลุดแนวรับที่สำคัญ ขณะที่ การที่ธนาคารกลางยุโรปไม่มีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่กดดัน sentiment ของตลาดหุ้นทั่วโลก และตลาดหุ้นไทย
สัปดาห์ถัดไป (12-16 ก.ย.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 34.60-35.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ และบริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,425 และ 1,400 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,460 และ 1,480 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คงได้แก่ การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของไทย (กนง.) วันที่ 14 ก.ย. ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดค้าปลีก ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม และดัชนีราคาผู้บริโภค ขณะที่ ข้อมูลเศรษฐกิจต่างประเทศที่สำคัญ คงได้แก่ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของจีน รวมทั้ง การประชุมธนาคารอังกฤษ (BOE) -สำนักข่าวไทย