เชียงใหม่ 6 พ.ย.-เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาหมอที่ จ.เชียงใหม่ ปรับเปลี่ยนเทคนิคการเลี้ยงปลาหน้าหนาว ด้วยการเพิ่มวิตามินซีกระตุ้นให้ปลากินอาหารมากขึ้น พร้อมแปรรูปสารพัดเมนูปลา จำหน่ายเพิ่มมูลค่าของปลาที่เลี้ยงแบบครบวงจร
ช่วงหน้าหนาวแบบนี้เป็นปัญหาสำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงปลา เพราะปลาจะกินอาหารน้อยลง ทำให้ต้องใช้ระยะเวลาการเลี้ยงเพิ่มขึ้น โดยเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาหมอไทยที่ จ.เชียงใหม่ ต้องหันมาปรับเปลี่ยนเทคนิคการเลี้ยง รวมทั้งเพิ่มวิตามินซีกระตุ้นให้ปลากินอาหารมากขึ้น แต่หน้าหนาว ปลาหมอจี่ เมนูอาหารรสเด็ด ก็ขายดีขึ้นกว่าเท่าตัว
พาไปดูกันที่บ่อเลี้ยงปลาของเกษตรกรคนเก่ง อย่างลุงสุเทพ ปั๋นธิวงศ์ ที่ ต.แม่แฝกใหม่ อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ ซึ่งมีประสบการณ์การเลี้ยงปลามานานกว่า 20 ปี และเป็นผู้บุกเบิกการเลี้ยงปลาหมอไทย พันธุ์ชุมพร 1 ที่ จ.เชียงใหม่ จนเป็นประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้เพาะเลี้ยงปลาหมอไทยแบบครบวงจร ซึ่งตอนนี้เข้าสู่หน้าหนาว เกษตรผู้เลี้ยงปลาเกือบทุกชนิด ไม่เฉพาะปลาหมอ ต้องเจอกับปัญหาปลากินอาหารน้อยลง ทำให้ต้องใช้เวลาเลี้ยงนานขึ้น จากเดิม 4-5เดือน เพิ่มเป็น 6 เดือน จึงต้องปรับเปลี่ยนเทคนิคการเลี้ยง
ลุงสุเทพ บอกว่า ช่วงหน้าหนาวได้แนะนำให้สมาชิกในกลุ่มกว่า 100 ราย ทั้งในเชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง ปรับเปลี่ยนเทคนิคการเลี้ยง ทั้งเวลาให้อาหาร จำกัดจำนวนปลาที่เลี้ยงต่อตารางเมตรให้น้อยลง รวมทั้งปรับความลึกของน้ำให้ตื้นขึ้น เพื่อให้แสงแดดส่องถึงน้ำไม่เย็นจนเกินไป ทำให้อัตราการรอดของปลามากขึ้น
อีกเคล็ดลับที่ลุงสุเทพนำมาใช้เลี้ยงปลาในช่วงหนาวจัด ปลาแทบจะไม่อยากกินอาหาร ก็ใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านที่สืบทอดกันมา นั่นคือการเพิ่มวิตามินซีให้ปลา โดยใช้มะนาวหรือมะกรูดผสมพรมใส่อาหารเม็ด แล้วจึงนำไปโปรยเลี้ยงปลา กระตุ้นให้ปลากินอาหารมากขึ้น ลุงสุเทพบอกว่า ปลาก็คล้ายกับคน เมื่อได้รสเปรี้ยวของมะนาวหรือมะกรูดจะทำให้อยากอาหารมากขึ้น ซึ่งวิธีนี้พิสูจน์กันมาแล้วว่าได้ผล กระตุ้นความอยากอาหารของปลาได้ดี และยังช่วยในเรื่องของการขับถ่ายของปลาให้ปกติด้วย
ปลาหมอไทย พันธุ์ชุมพร 1 กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นในภาคเหนือ เพราะเนื้อแน่น เนื้อหวาน มีไข่ และยังหากินได้ยาก เฉพาะกลุ่มของลุงสุเทพ ซึ่งมีสมาชิกกว่า 100 ราย เลี้ยงปลา
หมอไทย ปีหนึ่งได้ปลามากกว่า 100 ตัน เพราะเป็นปลาที่เลี้ยงง่าย ใช้พ้นที่น้อย เพียงบ่อละ 100 ตารางเมตร ก็เลี้ยงได้แล้ว เลี้ยง 4-5เดือน จับขายได้ในราคาปลาสดกิโลกรัมละ 90 บาท
ทางกลุ่มยังพยายามส่งเสริมการสร้างเมนูอาหารจากปลาหมอไทย โดยเฉพาะปลาหมอจี่ ที่พ่อค้าแม่ค้านำไปขายตามตลาดนัด ซึ่งขายดีมากในช่วงหน้าหนาว จากยอดขายวัน 500 กิโลกรัม เพิ่มเป็น 1,000 กิโลกรัม นอกจากนี้ยังแปรรูปผลิตภัณฑ์ปลาหมอไทย ปลานิล ปลาดุก ของเกษตรกรในกลุ่ม นำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ปลาแดดเดียว ปลาเส้น ปลาหวาน ปลาส้ม มาจำหน่ายเพิ่มมูลค่าของปลาที่เลี้ยงแบบครบวงจรด้วย.-สำนักข่าวไทย