31 ต.ค.- รู้จักต้นแบบ “โรงเรียน IoT” (Internet of Things) นำร่องระบบควบคุมปล่อยน้ำรดน้ำพืชผลอัตโนมัติผ่านมือถือ-วัดความชื้นดิน ลดสิ้นเปลืองค่าน้ำ พลิกโฉมเกษตรกรรมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เปลี่ยน “ปัญหา” เป็น “ความสำเร็จ” ไปกับโครงการ “CAT Digital Come Together มีส่วนร่วมและพัฒนาเติบโตไปด้วยกัน”
หากไม่นับภารกิจในการขยายเครือข่ายมือถือและอินเทอร์เน็ต ให้เข้าถึงทุกพื้นที่ทั่วประเทศของบริษัทผู้ให้บริการโทรคมนาคม เพื่อตอบสนองความต้องการผู้ใช้บริการในยุคที่ให้ความสำคัญกับ “ชีวิตบนโลกออนไลน์” เป็นอย่างมาก สิ่งที่เราควรพิจารณา ก็คือประโยชน์ของเทคโนโลยีที่ถูกนำมาใช้เพื่อ “ยกระดับชีวิตและสังคม” อย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่การทำโครงการส่งเสริมการขาย หรือโครงการส่งเสริมภาพลักษณ์องค์กรที่ต่างมาแบบรวดเร็วฉับไว จบโครงการแล้วผ่านไป หากแต่เป็นโครงการ CSR ที่เน้นการปลูกฝังแนวคิด วางพื้นฐานทางเทคโนโลยีการสื่อสาระยะยาวสู่คุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทย
หนึ่งโครงการที่น่าสนใจสำหรับแนวคิดของการขยายโอกาสด้านเทคโนโลยีสู่ชุมชนและสังคมที่เราอยากให้มีโอกาสได้ทำความรู้จักคือ “CAT Digital Come Together” โครงการที่อาจจะทำให้ใครหลายๆ คนเห็นภาพของ CAT หรือ กสท โทรคมนาคม ในยุค IoT ที่อินเทอร์เน็ตมีศักยภาพในการเชื่อมโยงและช่วยควบคุมอุปกรณ์ผ่านเครือข่ายอย่างเด่นชัดขึ้น มากกว่าแค่ประโยชน์ด้านการสื่อสาร จากบทบาทผู้เชื่อมโยงการสื่อสารของไทย สู่บทบาท “ผู้นำเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาสังคม” ที่พร้อมเติบโตไปกับคนไทย
ต้นแบบไอเดีย ต่อยอด IoT พลิกโฉมการเกษตร โครงการ CAT Digital Come Together คือสิ่งที่ CAT สะท้อนประโยชน์ของ IoT สู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตและสังคม ที่นำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้กับเกษตรกรรม ผ่านวิทยากรผู้มีประสบการณ์ ความรู้และความชำนาญบุคลากรในหน่วยงาน CAT ที่ทุ่มเทและตั้งใจมาเปลี่ยนวิถีชีวิตคนในชุมชนให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้าไปช่วยดูแลพืชผลทางการเกษตร พัฒนาวิธีปั้มน้ำเพื่อรดน้ำพืชผลโดยอัตโนมัติ แทนการเดินไปเปิด-ปิดปั้มน้ำซึ่งต้องสิ้นเปลืองแรงงานและเวลา
การได้รับโอกาสในการทดลองใช้เทคโนโลยีระบบ IoT ได้เปลี่ยนวิถีชีวิตและแนวคิดของครู นักเรียน และบุคลากร โรงเรียนเทศบาล 3 บ้านต่ำบุญศิริ จังหวัดนครนายก ไปอย่างสิ้นเชิง จากที่เคยมีปัญหาใช้น้ำปริมาณมากส่งผลกระทบให้สิ้นเปลืองค่าน้ำเป็นจำนวนมากต่อเดือน สู่การวางท่อน้ำให้เหมาะสมกับพื้นที่ปลูกพืชของโรงเรียน พร้อมกับใช้เทคโนโลยีเพื่อวางระบบวัดอุณหภูมิความชุ่มชื้นในดินและแจ้งผลผ่านมือถือ เพื่อสั่งการและควบคุมระบบปล่อยน้ำเพื่อรดน้ำแก่พืชผลโดยอัตโนมัติ แม้ระบบดังกล่าวอาจดูเรียบง่าย แต่สามารถใช้งานเพื่อตอบสนองความต้องการได้อย่างแท้จริง ช่วยประหยัดเวลาและแรงงานอย่างมีประสิทธิภาพ นี่อาจเป็นต้นแบบการต่อยอดไอเดียสู่ความไฮเทคอื่นๆ ที่ดียิ่งขึ้นในอนาคตของทั้งเด็กๆและครู ที่มองเรื่องเทคโนโลยีเป็นเรื่องสนุก น่าเรียนรู้ ไปซะแล้ว
เปลี่ยน “ปัญหา” เป็น “ความสำเร็จ” สู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตการจะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการนำเทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ตเข้ามาใช้งานร่วมกันผ่านรูปแบบ IoT เพื่อเกษตรกรรมนั้น จำเป็นต้องมีการลงพื้นที่เพื่อรับทราบและเห็นปัญหาจริง ก่อนจะนำมาประเมินหาขั้นตอนที่เหมาะสมในการแก้ไข ซึ่งทีมงานจาก CAT ที่ลงพื้นที่รับฟังปัญหา ก็ได้ยึดถือและปฏิบัติตามแนวคิดดังกล่าว ทำให้สามารถเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริง โดยเฉพาะปัญหาการเสียแรงงานและความเสี่ยงในการถูกสัตว์มีพิษทำอันตรายจากการเดินผ่านดงหญ้าเพื่อรดน้ำพืชผล
นี่คือสิ่งยิ่งตอกย้ำว่าแนวคิดระบบ IoT รดน้ำอัตโนมัติ คือ ตัวอย่างในการประยุกต์เทคโนโลยีเข้ากับปัญหาที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งเป็นปัญหาที่ยังไม่เคยมีภาพของผู้เชี่ยวชาญหรือหน่วยงานที่มีเทคโนโลยี เข้ามาดูแล ให้คำแนะนำ หรือช่วยคลี่คลายอย่างเป็นชัดเจน ทั้งหมดสะท้อนถึงความสำเร็จในการใช้อินเทอร์เน็ตและเปลี่ยนบทบาทจากช่องทางสื่อสาร ค้นหาข้อมูล สู่ประโยชน์ในการพัฒนาแนวคิด พัฒนาคุณภาพชีวิต ไปจนถึงการพัฒนาสู่เกษตรกรรมวิถีใหม่ ที่เกษตรไทยต้องก้าวไปให้ถึง
ขยายโอกาส ส่งต่อความยั่งยืนสู่ชุมชน และสังคม จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ปัจจุบันโครงการ CAT Digital Come Together ได้สร้างองค์ความรู้ให้โรงเรียน ขยายต่อไปยังชุมชน สู่คนในครอบครัว และยังจุดประกายความคิดต่อยอดสู่สิ่งที่ดีขึ้น การนำผลผลิตมาแปรรูปผลิตภัณฑ์เพื่อกระจายรายได้สู่ชุมชน ควบคู่ไปกับการเรียนรู้การทำตลาดทางออนไลน์ที่มีทีมงาน CAT คอยเป็นพี่เลี้ยงเป็นรูปธรรมที่ทำให้เห็นว่าโอกาสต่างๆ สามารถขยายได้ออกไปอย่างไม่สิ้นสุด ภายใต้เป้าหมายของ CAT ที่มุ่งหวังให้เกิดประโยชน์และพัฒนาสู่สังคม สู่การสร้างอาชีพและความสำเร็จของคนไทย ควบคู่กับการใช้ชีวิตอย่างมั่งคงยั่งยืน.-สำนักข่าวไทย