สธ. 31 ต.ค.- รมว.สธ.ประกาศเจตนารมณ์ คุ้มครองเด็กป้องกันติดเกม ย้ำครอบครัว สังคม โรงเรียน ควรตั้งกติกาในการเล่นเกม ไม่เกินวันละ 2 ชั่วโมง พ่อแม่ควรเป็นแบบอย่าง ไม่เล่นเกมในเวลาครอบครัว
นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดงานสัปดาห์สุขภาพจิตแห่งชาติ ประจำปี 2561 แก้ไขปัญหาภาวะการติดเกม ภายใต้แนวคิด “เครียดได้ คลายเป็น เล่นเกมแต่พอดี’ หลังจากองค์การอนามัยโลก ประกาศให้ปัญหาเด็กและเยาวชนจากโรคติดเกม เป็นหนึ่งในโรคทางจิตเวช มีผลกระทบต่อสุขภาพ ครอบครัว การศึกษา การงานอาชีพ และสังคมโดยรวม
นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า พร้อมกันนี้ยังได้มีการประกาศเจตนารมณ์ คุ้มครองเด็กและเยาวชน ร่วมกับ 84 องค์กรในการการแก้ไขปัญหาติดเกม 1.ป้องกันและควบคุมการบริโภคเกมที่มีผลต่อสมอง พัฒนาการ และพฤติกรรมของเด็กและเยาวชน 2.สนับสนุนให้มีมาตรการกำกับดูแลการแข่งขันวิดีโอเกม และ E-Sport ให้มีความรับผิดชอบต่อสังคม 3. สร้างความตระหนักถึงผลเสียและการเรียนรู้การใช้อย่างเหมาะสมในเด็ก ครอบครัวและครู และ4.สร้างระบบเฝ้าระวังและช่วยเหลือผู้ที่มีปัญหาให้เข้าถึงบริการได้อย่างครอบคลุม เพื่อให้เยาวชนเติบโตเป็นคนไทย 4.0 ที่มีคุณภาพในการพัฒนาประเทศ
รมว.สาธารณสุข กล่าวด้วยว่า จากการสำรวจพบว่า มีเยาวชนกว่า 2 ล้านคน มีความเสี่ยงติดเกม ในจำนวนนี้มี 2 หมื่นคนติดเกมรุนแรง ส่งผลกระทบต่อคนรอบข้าง ไม่เรียนหนังสือ ไม่กินข้าว ส่งผลต่อชีวิตประจำวัน โดยครอบครัวสังคมควรมีการตั้งกฎเกณฑ์กติกาในการเล่นเกม ใช้หลัก 3 ต้อง 3 ไม่ โดยต้องกำหนดเวลาเล่น เฉลี่ยทั้งวัน ควรเล่นไม่เกิน 2 ชั่วโมงเท่านั้นและพ่อแม่ควรต้องตกลงโปรแกรมที่เล่นกับลูก และต้องเป็นแบบ อย่าง ไม่ควรเล่นหรือติดเกมให้เห็น หรือหากเล่นก็ควรเล่นในเกมเดียวกัน เพื่ออธิบายและชี้แจงให้เข้าใจอย่างเหมาะสม ส่วน 3 ต้อง คือ ต้องไม่เป็นตัวอย่างในทางที่ผิด ไม่เล่นในเวลาครอบครัว และไม่เล่นในเวลานอน
ด้าน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ปัญหาการติดเกมในเด็กและวัยรุ่น พบในเด็กอายุ 6-18 ปี โดยพฤติกรรมของเกมที่มีการแข่งขัน ส่งผลให้ยั่วยุ และติดง่าย ทำให้เกิดสมาธิสั้น วิตกกังวล ซึมเศร้า อารมณ์แปรปรวน ปัจจุบันพบว่าเด็กทั่วไปมีการเล่นเกม เสี่ยงนานกว่า 5 ชั่วโมงต่อวัน บางคนเล่นนานเกิน 9 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ .- สำนักข่าวไทย