เชียงราย 29 ต.ค. – กรมส่งเสริมการเกษตรย้ำปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนาราคาจูงใจ 5-6 บาทต่อกิโลกรัม คาดผลผลิต 1,000 กิโลกรัมต่อไร่ บริษัทประกันพร้อมชดเชย 1,500 บาทต่อไร่ หากเผชิญภัยธรรมชาติ
นายสำราญ สาราบรรณ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร รักษาราชการอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยระหว่างการลงพื้นที่เยี่ยมชมเกษตรกรโครงการสานพลังประชารัฐส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนา พื้นที่เป้าหมาย 2.8 ล้านไร่ ครอบคลุม 33 จังหวัดทั่วประเทศ หวังดึงชาวไร่ปลูกข้าวโพดเข้าร่วมโครงการ 150,000 ราย ขณะนี้ชาวไร่ลงทะเบียนปลูกข้าวโพด 1 ล้านไร่ เริ่มปลูกข้าวโพดตั้งแต่ 15 ธันวาคม 2561 ขณะนี้มีความต้องการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 8 ล้านตัน แต่ผลิตได้เพียง 5 ล้านตันต่อปี ขณะที่ชาว อ.แม่ลาว จ.เชียงราย มีเกษตรกรสนใจร่วมโครงการ 120 ราย
“การปลูกข้าวโพดมี 2 ฤดู คือ ฤดูฝนและฤดูแล้ง หรือการปลูกในช่วงหลังฤดูทำนา เป็นช่วงที่รัฐบาลต้องการส่งเสริมอย่างมากในช่วงนี้ แต่ช่วงที่ผ่านมาชาวบ้านจะปลูกข้าวโพดช่วงฤดูฝนจำนวนมาก ผลผลิตค่อนข้างต่ำ 713 กิโลกรัมต่อไร่ เพราะมีปัญหาความชื้นและเชื้อรา ขณะที่ผลผลิตฤดูแล้งที่ต้องการส่งเสริมประมาณ 1,000 กิโลกรัมต่อไร่ จึงมีความจำเป็น จากภาพรวมเฉลี่ยทั้งประเทศ 2 ฤดูกาล 715 กิโลกรัมต่อไร่” นายสำราญ กล่าว
ทั้งนี้ รัฐบาลยังได้เจรจากับสมาคมโรงงานผู้ผลิตอาหารสัตว์รับซื้อข้าวโพดราคา 8 บาทต่อกิโลกรัม สำหรับข้าวโพดเบอร์ 2 ความชื้นร้อยละ 14.5 ณ กรุงเทพฯ ทำให้ราคาต่างจังหวัดอาจปรับลดลงบ้าง ทั้งค่าขนส่ง ความชื้น สิ่งเจือปน แต่ผู้ประกอบการโรงงานยืนยันว่าข้าวโพดสดจะขายได้ในราคา 5-6 บาทต่อกิโลกรัม หากขายได้ในความชื้นร้อยละ 30 เมื่อนำผลผลิต 1,300 กิโลกรัมต่อไร่ หรือมีรายได้ 6,500 บาทต่อกิโลกรัม จึงสร้างความมั่นใจกับชาวไร่ข้าวโพดได้อย่างแน่นอน
รัฐบาลยังชดเชยเบี้ยประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้กับเกษตรกรทั้งหมด เพื่อส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์นอกฤดูทำนา คิดเบี้ยประกันภัย 65 บาทต่อไร่ ใช้เงินงบประมาณช่วยอุดหนุนโครงการ 130 ล้านบาท หากข้าวโพดได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติ เช่น พายุฝน ลูกเห็บ น้ำท่าม ภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วง บริษัทประกันภัยร่วมโครงการจ่ายค่าสินไหมทดแทน 1,500 บาทต่อไร่ หากประสบปัญหาภัยจากศัตรูพืชระบาด โรคพืชระบาด จ่ายสินไหมทดแทน 750 บาทต่อไร่. – สำนักข่าวไทย