น่าน 5 ก.พ.-คับข่าวมีของ ความคืบหน้าโครงการแก้ปัญหาป่าน่าน ระยะที่ 2 ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดสรรที่ดินทำกินให้กับชาวบ้าน หลังตกลงกับชาวบ้าน เปลี่ยนจากปลูกข้าวโพดมาเป็นพืชเศรษฐกิจอื่นๆ
เมื่อได้มีโอกาสกลับไปที่ จ.น่าน อีกครั้ง ก็ยังมีความประทับใจในเมืองเล็กๆ ที่เต็มไปด้วยธรรมชาติ วัฒนธรรม และประเพณีล้านนาน รวมทั้งได้ไปฟังความคืบหน้าของโครงการแก้ปัญหาป่าน่าน ในระยะที่ 2 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดสรรที่ดินทำกินให้กับชาวบ้าน หลังจากที่ได้ตกลงกับชาวบ้าน ในการเปลี่ยนจากการปลูกข้าวโพดมาเป็นพืชเศรษฐกิจอื่นๆ
เดินทางไปที่บ้านเจ้าสัว ของคุณปั้น บัณฑูร ล่ำซำ CEO ของธนาคารกสิกรไทย กับบทบาทการเป็นประธานกรรมการภาคเอกชนในการแก้ปัญหาป่าน่าน ซึ่งทุกคนทราบดีว่า พื้นที่ป่าน่านในช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา ถูกบุกรุกป่าต้นน้ำ เพื่อใช้พื้นที่ปลูกข้าวโพด เพราะชาวบ้านรายได้ไม่พอ ทำให้มีหนี้สิน จนในที่สุด มีการตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างรัฐกับชาวบ้าน ออกไปสำรวจเพื่อแก้ปัญหาร่วมกัน ซึ่งขณะนี้ถือว่า ได้ก้าวขึ้นบันไดขั้นที่ 1 เพราะมีการสำรวจข้อมูลของชาวบ้านทั้งหมด ทั้งคุณภาพดิน ปัญหาหนี้สิน และอื่นๆ เพื่อจัดสรรที่ดินทำกินให้กับชาวบ้านอย่างถูกต้อง
โดย 72% ของพื้นที่ป่าน่าน เป็นป่าสงวน ซึ่งทุกคนต้องช่วยกันรักษาป่าต้นน้ำนี้ไว้ อีก 28% จะมีการฟื้นฟูกลับมาให้เป็นป่าที่มีต้นไม้ใหญ่ และอนุญาตให้ชาวบ้านปลูกพืชเศรษฐกิจได้ โดยตอนนี้ทั้ง 99 ตำบล ร่วมมือกันเพื่อสิ่งดีๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในจังหวัดน่าน ซึ่งยอมรับว่า การจัดสรรพื้นที่ให้กับชาวบ้าน ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะในการเปลี่ยนผ่านการปลูกพืชเพื่อเลี้ยงชีพ จะต้องมีเงินสนับสนุน เพื่อสร้างโอกาสใหม่ให้กับชาวบ้าน
คุณบัณฑูร อธิบายว่า เงินที่จะมาช่วยเหลือชาวบ้าน จะไม่ใช้งบประมาณของประเทศ แต่จะเป็นการระดมทุนจากองค์กรทั้งในและต่างประเทศ ในนามมูลนิธิรักษ์ป่าน่าน เพื่อนำโครงการน่านแซนบ็อกซ์ไปเป็นตัวอย่างในการปฎิรูปพื้นที่อื่นๆ ต่อไป ซึ่งถือเป็นตัวอย่างที่ดี ที่หลายหน่วยงานมาร่วมมือกันอย่างเต็มที่เพื่อให้เกิดผลอย่างชัดเจนที่สุด
คุณบัณฑูร ยอมรับว่าการทำโครงการนี้ให้ประสบความสำเร็จไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็จะไม่ย่อท้อ เพราะต้องการให้เกษตรกรในจังหวัดน่าน ทำมาหาเลี้ยงชีพได้ด้วยการปลูกพืชเศรษฐกิจ หากจะถามว่า จะให้ปลูกอะไร แต่ละพื้นที่ก็คงมีคำตอบที่ไม่เหมือนกัน
ส่วนผู้นำชุมชนที่เข้าร่วมรับฟังความคืบหน้าโครงการน่านแซนบ๊อกซ์ เชื่อว่า โครงการนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับการแก้ปัญหาพื้นที่ป่าลดลง และสามารถฟื้นฟูให้ป่าน่านกลับมามีชีวิตเพื่อประโยชน์ของชาวน่านได้ในที่สุด.-สำนักข่าวไทย