รพ.จุฬาฯ 24 ต.ค.- แพทย์จุฬาฯ สร้างนวัตกรรมการรักษามะเร็ง หลักการพัฒนาการปรับระบบภูมิต้านทานมะเร็งด้วยการใช้ยาหรือพัฒนาเซลล์เม็ดเลือดขาวต้านมะเร็งของผู้ป่วยแต่ละราย ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายผู้ป่วยมาต่อสู้กับมะเร็ง
ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ คณบดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า โรคมะเร็ง เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทยและทั่วโลก โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งแซงหน้าโรคหัวใจมานานกว่า 10 ปี ไทยจำเป็นที่จะต้องมีแผนระดับชาติในการต่อสู้กับโรคมะเร็งอย่างจริงจัง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯและ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย มีศูนย์มะเร็งครบวงจรและศูนย์ความเป็นเลิศด้านต่างๆขึ้น และยังได้ร่วมเป็นสถาบันพันธมิตร กับสถาบันที่มีชื่อเสียงระดับโลกอีกจำนวนมากเพื่อสร้างผลงานวิจัยนวัตกรรมที่โดดเด่นสามารถเป็นต้นแบบในการดูแลรักษาโรคมะเร็ง
โครงการนวัตกรรมทางด้านภูมิคุ้มกันบำบัดได้รับงบประมาณจากทั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและสภากาชาดไทย โดยเน้นงานวิจัยและพัฒนาเพื่อนำไปสู่การใช้ประโยชน์จริงต่อสังคม ซึ่งต้องใช้เวลานานและมีงบสนับสนุนต่อเนื่อง ล่าสุดจุฬาฯได้อนุมัติงบประมาณ 160 ล้านบาท/3 ปี เพื่อสนับสนุนศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง ของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2560 เป็นต้นมา มีเป้าหมายในการผลิตต้นแบบของการใช้ภูมิคุ้มกันบำบัดในการรักษาโรคมะเร็งหลายชนิดในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม การลงทุนเพื่อผลิตยาต้องอาศัยทุนจำนวนมหาศาลและความร่วมมือจากทุกภาคส่วน คณะแพทยศาสตร์ได้ตั้งบัญชีเพื่อขอรับการสนับสนุนเพื่อการวิจัยมาแล้วหลายปีอย่างต่อเนื่อง ในครั้งนี้นับเป็นประวัติการณ์ที่ภาคประชาชนมีความสนใจสนับสนุนงานวิจัยอย่างล้นหลาม อยากเน้นให้ทุกคนเข้าใจว่างานนี้ยังอยู่ในขั้นต้นเท่านั้น ยังมีอีกหลายขั้นตอนที่เราจะต้องทำต่อเนื่องและต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พวกเราทุกคนรู้สึกซาบซึ้งในน้ำใจของประชาชนคนไทยทุกคนเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมส่งกำลังใจและร่วมบริจาคเข้ามาที่ทีมวิจัยของคณะแพทยศาสตร์ จุฬา
รศ.ดร.นพ.วิโรจน์ ศรีอุฬารพงศ์ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคมะเร็งครบวงจร รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า ปัจจุบัน การรักษาโรคมะเร็งด้วยยาเคมีบำบัด แม้จะสามารถรักษาโรคมะเร็งหลายชนิดอย่างมีประสิทธิภาพและราคาไม่สูงมาก แต่มีข้อจำกัดที่สำคัญคือ ยาเคมีบำบัดออกฤทธิ์ทำลายเซลล์มะเร็งได้แต่ขณะเดียวกันก็ทำลายเซลล์ปกติของร่างกายบางอวัยวะ ต่อมาพัฒนาการรักษาโดยใช้ยามุ่งเป้า (targeted therapy) ซึ่งออกฤทธิ์จำเพาะกับมะเร็งชนิดที่มีการกลายพันธุ์ของยีนที่เป็นเป้าหมายในการออกฤทธิ์ของยาด้วยเช่นกัน แม้ว่าจะมีประสิทธิภาพสูง ตอบสนองได้นานกว่า และมีผลข้างเคียงที่น้อยกว่ายาเคมีบำบัด แต่มีข้อจำกัดสำคัญคือค่าใช้จ่ายที่สูงเฉลี่ยต่อเดือนตั้งแต่ 20,000 ถึง 150,000 บาท และเกิดการดื้อยาในที่สุด
ความก้าวหน้าที่สำคัญที่สุดทางการแพทย์ในการรักษาโรคมะเร็งในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาพบว่า แท้จริงแล้วร่างกายของผู้ป่วยโรคมะเร็งจำนวนหนึ่ง มีการสร้างภูมิต้านทานมะเร็งด้วยเม็ดเลือดขาวชนิดทีเซลล์ (T cells) ได้ แต่เซลล์มะเร็งมีการส่งสัญญาณต่อต้านการทำงานของทีเซลล์ด้วยกลไกหลายๆ อย่าง จากความรู้ดังกล่าวทำให้ปัจจุบันมีการพัฒนาการปรับระบบภูมิต้านทานมะเร็งด้วยการใช้ยาหรือพัฒนาเซลล์เม็ดเลือดขาวต้านมะเร็งของผู้ป่วยแต่ละราย ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายผู้ป่วยมาต่อสู้กับมะเร็งได้ดีขึ้น มีประสิทธิภาพสูง ผลข้างเคียงน้อยกว่าการรักษาด้วยยามุ้งเป้าและยาเคมีบำบัด และผู้ป่วยที่ตอบสนองมักจะตอบสนองได้นาน แต่มีข้อจำกัดคือ ไม่ได้ผลกับมะเร็งทุกชนิด ไม่ได้ผลกับผู้ป่วยทุกราย ปัจจุบันยาดังกล่าวมีราคาจำหน่ายที่แพงมาก โดยเฉลี่ยค่าใช้จ่ายตั้งแต่ 150,000 ถึง 300,000 บาทต่อการรักษา 1 ครั้ง และอาจต้องให้ต่อเนื่องเป็นระยะเวลาถึง 2 ปี ทำให้การเข้าถึงยากลุ่มนี้สำหรับประชาชนทั่วไปเป็นไปได้ยากหรือเป็นไปไม่ได้เลย
นพ.ไตรรักษ์ พิสิษฐ์กุล หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาเชิงระบบ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า เราต้องสร้างยาแอนติบอดีรักษามะเร็งขึ้นเองในประเทศไทยเนื่องจากขณะนี้เราต้องนำเข้ายาแอนติบอดีรักษามะเร็งจากต่างประเทศ 100% ดังนั้นยากลุ่มนี้จึงมีราคาแพงมาก ค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วยสูงกว่า 8 ล้านบาทต่อราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่เข้าไม่ถึง เบิกไม่ได้ การผลิตยาใช้เองในประเทศจะทำให้สามารถควบคุมราคาค่ารักษาให้ต่ำกว่ารายละ 1 ล้านบาท สามารถเพิ่มโอกาสให้คนไทยทุกคนเข้าถึงยาแอนติบอดีรักษามะเร็งที่มีราคาถูกลงได้ นอกจากนี้การสร้างยาแอนติบอดีรักษามะเร็งจะสร้างผลดีต่อประเทศโดยรวมในด้านต่างๆ ได้แก่ 1) ลดค่าใช้จ่ายในการซื้อยาจากต่างประเทศ 2) สร้างอุตสาหกรรม Biologics ที่มีศักยภาพสูง 3) ลดการสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการป่วยเป็นมะเร็ง
ขณะนี้ทางศูนย์วิจัยสามารถผลิตยาแอนติบอดีต้นแบบได้แล้วหนึ่งตัว จากผลในหลอดทดลองพบว่ายาต้นแบบของเรามีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับยาจากต่างประเทศ ซึ่งนับได้ว่าเราประสบความสำเร็จในเฟสแรก ขณะนี้เรากำลังเร่งผลิตยาต้นแบบเพิ่มอีกหลายตัวเพื่อเพิ่มโอกาสในการประสบความสำเร็จและกำลังก้าวเข้าสู่เฟสที่2ซึ่งเป็นการพัฒนายาแอนติบอดีต้นแบบที่ผลิตจากเซลล์หนูทดลองให้มีความคล้ายคลึงกับแอนติบอดีของมนุษย์ ในเฟสที่สองนี้จะต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการประมาณ 1 ปีและต้องการเงินลงทุนประมาณ 10 ล้านบาท ถ้าการพัฒนาแอนติบอดีในเฟสที่สองประสบความสำเร็จ ในเฟสที่สามจะเป็นการผลิตยาในโรงงานเพื่อให้ได้ยาในปริมาณมากซึ่งจะใช้ระยะเวลาในขั้นตอนนี้ประมาณ 18 เดือนและต้องการเงินลงทุนประมาณ 200 ล้านบาท หลังจากนั้นในเฟสที่สี่จะเป็นการทดสอบยาในสัตว์ทดลองเพื่อดูประสิทธิภาพและผลข้างเคียงซึ่งต้องใช้เวลาทดสอบประมาณสองปีและต้องการเงินลงทุนประมาณ 100 ถึง 200 ล้านบาท ในขั้นสุดท้ายเฟสที่ห้าจะเป็นการทดลองในมนุษย์ซึ่งต้องใช้เวลาในการดำเนินการ 4-5 ปี และต้องการเงินลงทุนประมาณ 1000 ล้านบาท .-สำนักข่าวไทย