กทม. 17 ต.ค. – ปมปัญหา ร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับใหม่ ยังคงถกเถียงกันอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ผู้จ่ายยา จนเกิดความกังวลว่าจะเกิดร้านขายยาสะดวกซื้อที่มีเภสัชกร อย.จึงออกมาชี้แจงปมปัญหาว่ามีเจตนารมณ์ตรงกัน แต่เป็นเรื่องของการตีความ และจะแก้ไขชั้นคณะกรรมการกฤษฎีกา
ข้อกังวลของสภาเภสัชกรรมเกี่ยวกับการเปิดช่องในร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับใหม่ มีหลากหลายประเด็น ทั้งเรื่องการอนุญาตขายยา ประเภทของยาที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับการอ่านและตีความ
โดยมาตรา 24 (3) ระบุการขายปลีกยาแผนปัจจุบันที่ไม่ใช่ยาที่จ่ายโดยเภสัชกร หรือยาตามใบสั่ง ผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการจะเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม ทันตกรรม การพยาบาลและผดุงครรภ์ หรือผู้ผ่านการอบรมโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สำหรับกรณีผู้ผ่านการอบรมทำให้เกิดข้อกังวล เพราะอาจเปิดช่องให้มีร้านขายยาพันธุ์ใหม่ หรือร้านขายยาสะดวกซื้อ เพราะร้านขายยาประเภท ขย.2 คือร้านที่ไม่มีเภสัชกร ขายยาแบบบรรจุเสร็จ คนขายต้องมีใบอนุญาตและผ่านการอบรมจาก อย. โดยดำเนินกิจการได้จนกว่าจะเสียชีวิต ร้านขายยาแบบนี้กำลังจะหมดไป ด้าน อย.ระบุเพื่อความสบายใจ จะตัดมาตรานี้ทิ้ง หรือเพิ่มไปในบทเฉพาะกาล ระหว่างคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา ยืนยันไม่มีร้านขายยาสะดวกซื้อเกิดขึ้นแน่นอน
ส่วนมาตรา 25 (6) ที่กำหนดว่า ใบอนุญาตขายปลีกยาแผนปัจจุบันที่ไม่ใช่ยาตามใบสั่งแพทย์ และยาที่จ่ายโดยเภสัชกร เป็นเพียงการรับรองสถานะทางกฎหมายของร้านขายยาประเภท ขย.2 หากมีปัญหาพร้อมตัดทิ้งเช่นกัน แต่ย้ำชัดไม่สามารถถอนร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับใหม่นี้ออกได้ เนื่องจากติดเรื่องเงื่อนเวลาเพื่อให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ให้ทันในรัฐบาลชุดนี้
ขณะที่ประชาชนเห็นว่าการมีเภสัชกรประจำร้าน และได้มีโอกาสพูดคุยซักถาม เป็นการันตีความปลอดภัย เพราะยาแม้เป็นประเภทเดียวกัน แต่ผลิตคนละบริษัท วิธีการใช้ก็แตกต่าง
เมื่อ 50 ปีก่อน สัดส่วนของเภสัชกรอาจไม่เพียงพอ สถานพยาบาลบางแห่งขาดแคลนเภสัชกร แต่ปัจจุบันเภสัชกรเพิ่มมากขึ้น มีร้านขายยามากกว่า 30,000 แห่งที่คนไทยสามารถเข้าถึงได้ จึงอาจไม่จำเป็นที่ต้องมีร้านขายยาสะดวกซื้อ. – สำนักข่าวไทย