กรุงเทพฯ4 ต.ค. – พาณิชย์ระบุราคาน้ำมันขยับขึ้นจากการเก็งกำไร – คว่ำบาตรอิหร่าน แต่คาดว่าราคาจะไม่ถึง 100 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล
นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นว่า เกิดจากการเก็งกำไรและผลต่อเนื่องจากการคว่ำบาตรอิหร่านเป็นหลัก โดยในชั้นนี้ คาดว่าราคาน้ำมันจะสูงกว่าตัวเลขที่ สนค. ใช้ในการประมาณการณ์การส่งออกและเงินเฟ้อที่ระดับ 65-75 เหรียญสหรัฐฯ โดยอาจจะขึ้นมาที่ 80-90 เหรียญฯ แต่คาดว่าจะไม่สูงถึง 100 เหรียญฯ เพราะสหรัฐฯ มีท่าทีที่จะหาความร่วมมือกับประเทศผู้ผลิตน้ำมัน เพื่อหลีกเลี่ยงราคาน้ำมันที่สูงเกินไป อีกทั้งกลุ่มประเทศโอเปกอาจจะมีมาตรการเพิ่มเติม เช่น การผลิตทดแทนน้ำมันของอิหร่าน นอกจากนี้ เศรษฐกิจโลกมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องแต่ไม่ร้อนแรง ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันไม่เร่งตัวมากนัก
จากการคำนวณของ สนค. หากราคาน้ำมันขึ้นมาอยู่ที่ 80-90 เหรียญสหรัฐฯ ใน 4 เดือนที่เหลือของปี 2561 (ช่วง 8 เดือนแรก ราคาน้ำมันเฉลี่ยอยู่ที่ 69 เหรียญสหรัฐฯ) จะทำให้ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นร้อยละ 38- 56 จากปีก่อน ซึ่งจะทำให้การส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันขยายตัวร้อยละ 26-36 และส่งผลต่อการส่งออกรวมประมาณร้อยละ 2.6-3.6 อันจะสนับสนุนการส่งออกตามเป้าหมายที่ร้อยละ 9.0 ได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้ การส่งออกร้อยละ 9 จะต้องส่งออกเดือนที่เหลือเฉลี่ยร้อยละ 7.1
สำหรับผลต่อเงินเฟ้อหรือราคาผู้บริโภคนั้น นางสาวพิมพ์ชนกกล่าวว่า สนค. ได้ตั้งประมาณการเงินเฟ้อไว้ที่ร้อยละ 0.8 – 1.6 ซึ่งแม้ว่าราคาน้ำมันจะขึ้นมาที่ระหว่าง 80-90 เหรียญฯ ก็จะยังไม่ทำให้หลุดกรอบนี้ อย่างไรก็ตาม อาจจะส่งผลให้ค่ากลางที่ร้อยละ 1.25 สูงขึ้นบ้าง แต่ยังไม่ชัดเจนว่าจะขึ้นเท่าใด เพราะช่วงปลายปีจะมีสินค้าเกษตรออกสู่ตลาดมากขึ้น ซึ่งอาจจะส่งผลให้ราคาลดลง (ต้นทุนลด) ยกเว้นยางพาราที่ปกติจะราคาสูงขึ้นตามราคาน้ำมัน นอกจากนี้ ครม. ยังไม่เห็นชอบให้ขึ้นภาษีสรรพสามิตยาสูบ จึงยังไม่มีแรงกดดันให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นในส่วนของบุหรี่
นางสาวพิมพ์ชนกกล่าวว่า สหรัฐฯ น่าจะเพิ่มแรงกดดันประเทศผู้ผลิตต่าง ๆ เพื่อหามาตรการดึงราคาน้ำมันให้ลง เพราะประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวเสมอว่า สหรัฐฯ ไม่ต้องการให้ราคาน้ำมันแพงเกินไป เพราะจะกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยล่าสุดซาอุดีอาระเบียเริ่มให้ข่าวแล้วว่า พร้อมจะสร้างเสถียรภาพให้กับตลาดน้ำมันโลก โดยอาจจะเพิ่มกำลังการผลิตในเดือน พ.ย. นี้
สำหรับดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนน ไตรมาสที่ 3 ปี 2561 มีค่าเท่ากับ 107.8 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 3 ปี 2560 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 สาเหตุจากราคาน้ำมันดีเซลขายปลีก ซึ่งเป็นต้นทุนหลัก ปรับเพิ่มขึ้นตามราคาตลาดโลก
ทั้งนี้ผู้ประกอบการขนส่งมีความเห็นว่า ภาครัฐควรดูแล ควบคุมราคาน้ำมันดีเซลภายในประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม พร้อมดำเนินการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ให้เกิดการลงทุน การผลิตมากขึ้น คาดว่าจะส่งผลให้ธุรกิจด้านการขนส่งกระเตื้องตามไปด้วย – สำนักข่าวไทย