ศาลปกครอง 4 ต.ค.- ชาวบ้านบางประกงร้องศาลปกครองสั่งระงับคณะกรรมการอีอีซี ใช้พื้นที่ตำบลเขาดิน ทำนิคมอุตสาหกรรม ชี้ไล่ที่ชาวบ้านก่อนทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม ปล่อยนายทุนกว้านซื้อ-ถมดินผิดกฎหมาย ชาวบ้านโอดไม่มีการเยียวยา
ผู้สื่อข่าวรายงานจากศาลปกครอง ว่า เมื่อเวลา 10.30 น. สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน นำโดยนายศรีสุวรรณ จรรยา นำชาวบ้านบางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา จำนวน 14 ราย ยื่นฟ้อง คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษตะวันออก (อีอีซี) ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา และ นายกฯ อบต.เขาดิน อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา ต่อศาลปกครองกลาง
กรณีปล่อยให้ผู้ประกอบการเอกชนกว้านซื้อที่ดินราว 3 พันไร่ เพื่อไปก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรม โดยผู้ประกอบการได้ไปโฆษณาว่าพื้นที่ดังกล่าวจะมีการสร้างนิคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกของรัฐบาล ซึ่งกฎหมายพัฒนาเศรษฐกิจอีอีซี ภาคตะวันออก 2561 และ พ.ร.บ.ส่งเสริมเศรษฐกิจภาคตะวันออก 2561 กำหนดไว้ชัดเจนว่าการที่จะดำเนินการใด ๆ จะต้องมีการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่เสียก่อน
แต่ปรากฎว่าการมากว้านซื้อที่ดินดังกล่าว ไม่ได้มีการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้องหรือการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ แต่ผู้ประกอบการกลับไปขออนุญาตองค์การบริหารส่วนตำบล เขาดิน ในการปรับสภาพพื้นที่ โดยมีการถมดินกันอย่างมากมายในขณะนี้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชาวบ้าน ทั้งที่ตามกฎหมายการถมดินกำหนดมาตรการรองรับผลกระทบไว้ เช่น ต้องมีการจัดทำแผนผังร่องน้ำ เพื่อป้องกันการเกิดผลกระทบกับชุมชนรอบข้าง ซึ่งผู้ประกอบการไม่ได้ดำเนินการใด ๆ เลย
การจะดำเนินการถมดินจะต้องทำหลังจากทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ รวมทั้งเสนอขออนุญาตต่อสำนักนโยบายและแผน กระทรวงทรัพย์ฯ และขออนุมัติจากคณะกรรมการอีอีซี การกระทำของผู้ประกอบการจึงเข้าข่ายผิดกฎหมาย ขณะเดียวกันพื้นที่ดังกล่าวชาวบ้าน ทำนา ทำประมง หัตถกรรมพื้นบ้านมานานหลายรุ่น ซึ่งก็มีกฎหมายดูแลชาวบ้านอยู่คือ พ.ร.บ.การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม 2543 ซึ่งก็กำหนดไว้ชัดเจนว่า การที่จะให้ชาวบ้านเลิกเช่าที่เกษตรกรรมดังกล่าว จะต้องบอกกล่าวล่วงหน้าอย่างน้อย 6 ปี
ฉะนั้นเมื่อนายทุนมากว้านซื้อที่และไล่ชาวบ้าน ไม่ให้ทำกินเลย จึงขัดต่อกฎหมายเช่านาอย่างชัดเจน ที่ผ่านมาชาวบ้านได้ร้องเรียนต่อผู้ว่าฯ ไปแล้ว แต่ก็ไม่ได้มีการดำเนินการแก้ไขให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด ทางสมาคมจึงต้องนำเรื่องนี้มาฟ้องต่อศาล ขอให้มีคำพิพากษาให้คณะกรรมการอีอีซี ยุติการกระทำใด ๆ ในพื้นที่ตำบลเขาดิน และการขอให้อนุมัติอนุญาต เป็นไปตามมาตรา 57, 58 ของ รธน. 60 และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยผู้ประกอบการหรือบริษัทเอกชนต้องจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิต รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในชุมชนเสียก่อน และให้มีการชดใช้ค่าเสียหาย ให้กับชาวบ้าน ทั้ง 14 ราย ที่จะไม่สามารถเช่าที่นา ทำนาได้อีกตลอด 6 ปี รายละ 1.2 ล้านบาท พร้อมอัตราดอบเบี้ยร้อยละ 7.5 นับแต่วันฟ้องคดี
น.ส.นรี ศรประสิทธิ์ และนางวันดี บัวพรม ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบ กล่าวว่า เช่าที่ดังกล่าวจำนวน 60 ไร่ มาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย จ่ายค่าเช่าเป็นรายปี แปลงละ 1000-30,000 บาท ทำสัญญาทุก 3 ปี ในที่เช่าจะทำทั้งประมงและปลูกข่าว แต่เวลานี้นายทุนกลับมาถมที่โดยไม่ได้บอกกับชาวบ้าน และเจ้าของที่ก็ไม่เคยบอกล่วงหน้าว่ามีการขายที่ไปก่อนแล้ว เวลานี้เดือดร้อนมาก เพราะยังเหลือสัญญาเช่าอีก 2 ปี มาบอกให้ออก ก็ไม่รู้จะไปที่ไหน เพราะไม่ได้เตรียมตัว รวมทั้งไม่มีการพูดถึงค่าชดเชย มีแต่เอกชนที่มาถมที่บอกว่าจะให้ค่ารื้อถอน บางรายให้แค่สองแสน เราไปใช้แป๊ปเดียวก็หมด ไม่คุ้มกับสิ่งที่ลงทุนไป ขณะที่บางคนเมื่อได้เช่าทำกินก็ไปกู้เงินจาก ธกส.มา หากให้ออกจากที่ทำกินจะเอาเงินไหนไปจ่ายที่กู้มา .-สำนักข่าวไทย