สิงคโปร์ 1 ต.ค.- ท่าอากาศยานชั้นนำทั่วโลกเริ่มลงทุนมาตรการต่าง ๆ เพื่อรับมือกับระดับน้ำทะเลสูงขึ้นและพายุรุนแรงขึ้น อันเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก เช่น ยกทางวิ่งเครื่องบินให้สูงขึ้น สร้างกำแพงกันคลื่น ปรับปรุงระบบระบายน้ำ สร้างสิ่งก่อสร้างคงทนสูง
บริษัทที่ปรึกษาและจัดการความเสี่ยงฟิตช์โซลูชันส์ยกตัวอย่างท่าอากาศยานคันไซของญี่ปุ่นที่ต้องปิดซ่อมนานถึง 17 วันเพราะไต้ฝุ่นเชบีกระหน่ำเมื่อต้นเดือนกันยายนและท่าอากาศยานในจีน ฮ่องกงและรัฐนอร์ทแคโรไลนาของสหรัฐที่ต้องปิดเพราะพายุเมื่อเดือนก่อนเช่นกันว่า ภัยพิบัติทางธรรมชาติเหล่านี้เป็นความเสี่ยงต่อนักลงทุนและบริษัทประกันภัย รวมถึงโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานทั่วโลกราว 262,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 8.45 ล้านล้านบาท) ที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้
ด้านสภาท่าอากาศยานระหว่างประเทศ (เอซีไอ) ระบุว่า ในบรรดาท่าอากาศยานการจราจรหนาแน่น 50 แห่งทั่วโลก มี 15 แห่งที่สูงจากระดับน้ำทะเลไม่ถึง 30 ฟุต (ราว 9.10 เมตร) เช่น วานูอาตู มัลดีฟส์ เสี่ยงอันตรายอย่างยิ่งจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แม้แต่ประเทศที่เศรษฐกิจมั่นคงแล้วก็เสี่ยงภัยจากพายุที่รุนแรงขึ้นและทำให้น้ำท่วมสนามบินอยู่บ่อยครั้ง ร่างรายงานที่เอซีไอจะเผยแพร่สัปดาห์นี้แนะนำสมาชิกประเมินความเสี่ยง มีมาตรการบรรเทาภัย และกำหนดแผนแม่บท
รอยเตอร์ยกตัวอย่างท่าอากาศยานที่เริ่มลงทุนป้องกันความเสี่ยงแล้ว เช่น ท่าอากาศยานชางงีของสิงคโปร์ที่วิเคราะห์สมมติฐานล่วงหน้าไปถึงปี 2643 ว่าระดับน้ำทะเลมีโอกาสสูงขึ้น 2.5 ฟุต (ราว 0.76 เมตร) จึงได้ปรับปรุงทางวิ่งเพื่อให้ระบายน้ำได้ดีขึ้นและสร้างอาคารผู้โดยสารแห่งใหม่สูงจากระดับน้ำทะเล 18 ฟุต (ราว 5.5 เมตร) ท่าอากาศยานบริสเบนของออสเตรเลียซึ่งตั้งอยู่บนเกาะเทียมสูงจากระดับน้ำทะเล 13 ฟุต (ราว 4 เมตร) กำลังสร้างทางวิ่งสูงจากระดับน้ำทะเล 3.3 ฟุต (ราว 1 เมตร) สร้างกำแพงกันคลื่นที่สูงขึ้นและปรับปรุงระบบระบายน้ำ.- สำนักข่าวไทย