กทม.17 ก.ย.- 21ประเทศในเอเชียระดมสมองร่วมแก้กฎหมายล้มละลาย ในส่วนของไทยกฎหมายล้มละลายอยู่ในอันดับดี แต่เตรียมปรับปรุงเพิ่มในส่วนของธุรกิจSME ชูศาสตร์พระราชาและเศรษฐกิจพอเพียงนำทางป้องกันการล้มละลายยั่งยืน
กระทรวงยุติธรรม สำนักงานศาลยุติธรรม กลุ่มธนาคารโลกและองค์กรระหว่างประเทศ ผู้ประกอบวิชาชีพด้านล้มละลายและฟื้นฟูกิจการ จาก 21 ประเทศ ร่วมประชุมการปฏิรูปกฎหมายล้มละลายในเอเชียครั้งที่ 11 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมระหว่างวันที่ 16-17 กันยายนนี้ เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนและเสริมสร้างศักยภาพของตุลาการเกี่ยวกับพัฒนา การล่าสุดของวงการกฎหมายล้มละลายของประเทศต่างๆจากผู้ทรงคุณวุฒิเกี่ยวกับกฎหมายล้มละลายข้ามชาติ และก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศไทย โดยเฉพาะการพัฒนากฎหมายล้มละลาย อันจะมีผลโดยตรงต่อการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
นายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการรวมนักคิดและผู้ปฏิบัติงานล้มละลายจากเอเชียและทั่วโลกที่จะมาร่วมกันพัฒนาและคิดค้นกฎหมายล้มละลายให้มีประสิทธิภาพและตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและสังคมให้มากขึ้น รวมทั้งจะได้เรียนรู้และดูแนวทางกฎหมายล้มละลายที่ดีของประเทศอื่นๆหรือองค์กรระหว่างประเทศว่าควรเป็นลักษณะไหน
อย่างไรก็ตามในส่วนของกฎหมายล้มละลายของประเทศไทยได้รับการประเมินว่า อยู่ในระดับที่ดีแต่ถ้าสามารถพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นไปอีกก็ยังมีโอกาสในหลายหลายด้าน โดยกฎหมายล้มละลายของไทยที่ได้นำเสนอได้ดีและได้รับการยอมรับคือการแก้กฎหมายล้มละลายเกี่ยวกับการดูแลอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมหรือ SME ซึ่งได้มีการแก้กฎหมายฉบับนี้ไปแล้วบางส่วน แต่ยังมีจุดที่จะแก้ไขเพิ่มเติมได้อีกโดยกระบวนการแก้ปัญหาปัจจุบันลักษณะคล้ายๆกับการแก้ปัญหาจนเสร็จสิ้นกระบวน การแล้วจึงเอาไปให้ศาลเห็นชอบ แต่ที่จะมีการพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมใหม่ มองความจริงของการแก้ปัญหาอาจต้องใช้เวลาโดยปรับปรุงให้มีการยื่นคำร้องขอต่อศาลก่อน ในระหว่างนั้นจะให้เจ้าหนี้กับลูกหนี้เจรจากันไปภายใต้การควบคุมดูแลของศาล ซึ่งก็เป็นลักษณะคล้ายๆกับข้อกฏหมายล้มละลายในหลายประเทศ ซึ่งหากสามารถแก้ไขเพิ่มเติมได้ก็จะทำให้ภาพรวมการแก้ปัญหาดีขึ้นและต่างประเทศจะเห็นว่าประเทศไทยเดินหน้าตลอดเวลา และยังทำให้ประเทศต่างๆเห็นว่าเรามีภาพรวมที่ดีแล้วการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่เคยมีก็หมดสิ้นไประดับหนึ่งซึ่งเป็นภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศ
ด้าน ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติราชการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ในส่วนของประเทศไทยได้หยิบยกความสำคัญของศาสตร์ของพระราชาและเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งมีแนวคิดเข้าใจ เข้าถึงและพัฒนาเป็นกุญแจสำคัญในการดำเนินงานและถือเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในการจัดการกับปัญหาล้มละลายเนื่องจากเป็นแนวทางที่มุ่งตรงกลางเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตที่สมดุล ซึ่งได้รับการเผยแพร่อย่างกว้างขวางและได้รับการยอมรับจากประชาคมนานาชาติ โดยมีความสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
ทั้งนี้ รัฐบาลไทยได้ยึดแนวทางนี้ในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเป็นปึกแผ่นมั่นคงและแก้ปัญหาตรงจุด เนื่องจากต้นตอของปัญหาล้มละลายเกิดจากความฟุ้งเฟ้อ ฟุ่มเฟือยไม่รู้จักอดออมและไม่ดูแลศักยภาพของครอบครัว ดังนั้นรัฐบาลซึ่งเป็นผู้นำประเทศจะเป็นตัวอย่างที่ดีและมีการบรรจุการพัฒนาที่ยังยืนไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 13 ที่จะเริ่มใช้ในปี 2564 ด้วย
ขณะที่ น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี กล่าวว่า ไทยมีการแก้กฎหมายล้มละลาย มาอย่างต่อเนื่อง ในรอบ 4 ปี ตั้งแต่ปี2558 ถึงปัจจุบัน มีการแก้จำนวน3 ฉบับ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้มีการนำหลักสากลมาใช้ในการแก้ปัญหาการล้มละลาย โดยกฎหมายที่แก้ ได้เพิ่มสาระสำคัญ โดยเพิ่มข้อกำหนดเงื่อนไขในการคุ้มครองเจ้าหนี้มากขึ้น ที่สำคัญมีการใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์มาส่งเอกสารคำสั่งต่างๆขึ้นเป็นครั้งแรก เนื่องจากกฎหมายล้มละลายฉบับเก่าแก้ไขล่าสุดตั้งแต่ปี 2489 รวมทั้งแก้ไขในประเด็น ให้ ผู้มีทรัพย์ของลูกหนี้ในความครอบครองต้องแจ้งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทราบทันทีเมื่อได้รับแจ้ง เพื่อให้การรวบรวมทรัพย์สินให้เจ้าหนี้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ที่สำคัญ การแก้กฎหมายล้มละลายครั้งนี้ยัง เปิดให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SME ยื่นฟื้นฟูกิจการได้เป็นครั้งแรกด้วย
นอกจากนี้ในส่วนของการแก้ไขกฎหมายล้มละลายเพิ่มเติม ขณะนี้มีอีก2ฉบับ กำลังอยู่ในขั้นตอนดำเนินการคือ กฎหมายล้มละลายข้ามชาติระหว่างประเทศที่ได้มีการเสนอไปแล้วเมื่อปี 2559 ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีแล้วอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาและกฎหมายเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เอกชนซึ่งทั้ง2 ฉบับกำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการ .-สำนักข่าวไทย