กรุงเทพฯ 17 ก.ย.-ตลาดเงิน ตลาดทุนรอคอยผลการประชุมเฟด 20-21 ก.ย.แม้จะคาดยังไม่ขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้ แต่ในปีนีประเมินอาจปรับขึ้น
บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด รายงานว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา (10-16 ก.ย.) เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 1 เดือนที่ 34.98 บาทต่อดอลลาร์ฯ สอดคล้องกับแรงเทขายสินทรัพย์เสี่ยงของนักลงทุนทั่วโลก และสถานะขายสุทธิพันธบัตรไทย 1.74 หมื่นล้านบาทของนักลงทุนต่างชาติ ขณะที่ เงินดอลลาร์ฯ ได้รับแรงหนุนกลับมาเป็นระยะ เพราะแม้ตลาดจะไม่เชื่อว่าธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุม FOMC วันที่ 20-21 ก.ย. นี้ แต่ก็ยังคงไม่ตัดโอกาสความเป็นไปได้ที่จะเห็นเฟดกลับมาส่งสัญญาณเตรียมปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ในการประชุมรอบถัดๆ ไปในช่วงที่เหลือของปีนี้
สำหรับในวันศุกร์ (16 ก.ย.) เงินบาทอยู่ที่ 34.92 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 34.76 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ (9 ก.ย.)
ด้านดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย( SET) สัปดาห์ที่ผ่านมา ปิดที่ระดับ 1,479.07 จุด เพิ่มขึ้น 2.34% จากสัปดาห์ก่อน มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันลดลง 13.86% จากสัปดาห์ก่อน มาที่ 58,064.46 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ MAI ปิดที่ 543.52 จุด เพิ่มขึ้น 2.38% จากสัปดาห์ก่อน
ตลาดหุ้นไทยปรับร่วงลงในวันจันทร์จากความกังวลของตลาด หลังถ้อยแถลงของประธานเฟดสาขาบอสตันสนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่ดัชนีสามารถฟื้นตัวได้ในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ นำโดยการฟื้นตัวของราคาน้ำมัน (การปรับประมาณการเศรษฐกิจขึ้นโดยธนาคารแห่งประเทศไทย) ตลอดจนมุมมองของตลาดที่ลดโอกาสการปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมรอบก.ย.นี้ลง หลังยอดค้าปลีกสหรัฐฯ ไม่ค่อยสดใส อนึ่ง นักลงทุนต่าชาติยังคงซื้อหุ้นไทยสุทธิต่อเนื่องในสัปดาห์นี้กว่า 1.62 หมื่นล้านบาท
สัปดาห์ถัดไป (19-23 ก.ย.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 34.70-35.10 บาทต่อดอลลาร์ฯ ด้านบริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,460 และ 1,430 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,487 และ 1,505 จุด ตามลำดับ โดยจุดสนใจของนักลงทุนน่าจะอยู่ที่ผลการประชุมนโยบายการเงินของเฟด และการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่นในวันที่ 20-21 ก.ย. ขณะที่ ธนาคารกลางนิวซีแลนด์ ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ และธนาคารกลางอินโดนีเซีย ก็จะประชุมนโยบายการเงินในวันถัดมา (22 ก.ย.) นอกจากนี้ ตลาดอาจรอติดตามข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัย ดัชนี PMI ภาคการผลิต (ขั้นต้น) เดือนก.ย. ยอดขายบ้านมือสอง ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้าน การอนุญาตก่อสร้าง ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจเดือนส.ค. -สำนักข่าวไทย