ประเทศเนปาล 31 ส.ค.- นายกฯ ร่วมรับประทานอาหารเช้ากับผู้นำที่เข้าร่วมประชุมผู้นำ BIMSTEC จากนั้น “พล.อ.ประยุทธ์ หารือทวิภาคีกับ นายกรัฐมนตรี เนปาล เตรียมผลักดันมูลค่าการค้าและการลงทุนระหว่างกันให้เพิ่มมากขึ้น และร่วมจัดทำ Buddhist Story Book เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงพระพุทธศาสนาในเอเชีย ให้เป็นจุดหมายท่องเที่ยวร่วมกัน
พิษณุ แป้นวงศ์ ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวไทยติดตามภารกิจพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสชช.) เดินทางไปสหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยเนปาล เพื่อเข้าร่วมประชุมผู้นำ ความคิดริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอล สำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (BIMSTEC) ครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 30-31 สิงหาคม รายงานว่าช่วงเช้าวันนี้ (31 ส.ค.) นายกรัฐมนตรี และผู้นำประเทศที่เข้าร่วมการประชุม รับประทานอาหารเช้าร่วมกัน จากนั้นผู้นำประเทศที่เข้าร่วมการประชุมได้ถ่ายภาพหมู่ร่วมกัน ที่ประชุมรับรองการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 15 และครั้งที่ 16 และเป็นสักขีพยาน ในพิธีลงนามความตกลงในกรอบร่วมมือ จากการประชุมครั้งที่ 4 นี้จำนวน 3 ฉบับ และที่ประชุมพิจารณารับรองปฎิญญากาฐมาณฑุ พิธีส่งมอบตำแหน่งประธานการประชุมครั้งต่อไปให้แก่สาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 10.10 น. ตามเวลาท้องถิ่น ณ โรงแรมโซลธี คราวน์ พลาซ่า (Soaltee Crowne Plaza) กรุงกาฐมาณฑุ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พบหารือกับ นายคัดห์กา ปราสาด ชาร์มา โอลิ (The Right Honourable Khadga Prasad Sharma Oli) นายกรัฐมนตรีเนปาล ในโอกาสเข้าร่วมการประชุมผู้นำ BIMSTEC ครั้งที่ 4
พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีแสดงความยินดีต่อรัฐบาลเนปาล ที่ประสบความสำเร็จในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม BIMSTEC Summit และขอบคุณที่ต้อนรับคณะผู้แทนไทยอย่างอบอุ่น ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับเนปาล จะครบรอบ 60 ปี ในปี2019 ไทยและเนปาลยังมีลู่ทางที่จะผลักดันมูลค่าการค้าและการลงทุนระหว่างกันให้เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในด้านอุตสาหกรรมการเกษตร การท่องเที่ยว ก่อสร้าง และพลังงาน และสาธารณูปโภค ตลอดจนส่งเสริมการแลกเปลี่ยนการเยือนของภาคเอกชนของทั้งสองประเทศ ผ่านสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมระหว่างเนปาล-ไทย โดยภาครัฐและประชาชนไทยจำนวนมากได้มีส่วนสนับสนุนความช่วยเหลือเนปาลในการฟื้นฟูประเทศเนปาลหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวในปี 2558 สะท้อนถึงความใกล้ชิดระหว่างประชาชนและรัฐบาลของทั้งสองประเทศ
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ความสัมพันธ์ไทย- เนปาล มีความเชื่อมโยงทางศาสนาและวัฒนธรรมที่มีมายาวนานกว่า 2,000 ปี ชาวไทยนิยมเดินทางมาเพื่อเยี่ยมชมสถานที่สำคัญ คือ ลุมพินีวัน ในฐานะที่เป็นสถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า ดังนั้น ไทยพร้อมร่วมมือกับเนปาลภายใต้แนวคิด 3Ps (Pieces, Places, People) รวมทั้งประเทศอื่น ๆ ที่มีความเชื่อมโยงกันทางพุทธศาสนา ในการจัดทำ Buddhist Story Book เพื่อร่วมกันส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงพระพุทธศาสนาในเอเชีย ให้เป็นจุดหมายท่องเที่ยวร่วมกัน (Combined Destination) ไทยยังพร้อมสนับสนุนการก่อสร้างโรงพยาบาลในเขตลุมพินี นอกจากนี้ ชาวเนปาลจำนวนมากนิยมเดินทางเยือนไทยเพื่อรักษาพยาบาล ปัจจุบัน ไทยมีนโยบายพัฒนาประเทศเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเพื่อการรักษาพยาบาลด้วย
พล.ท.วีรชน กล่าวว่า สำหรับความร่วมมือในกรอบ BIMSTEC นั้น ไทยได้เสนอในที่ประชุมสุดยอด ให้สามารถสร้างความเชื่อมโยงกับกรอบความร่วมมืออื่น ๆ ทั้ง ACMECS ACD และอาหาร เพื่อผนึกแต่ละกรอบความร่วมมือให้เข้ามาเป็นห่วงโช่แห่งความร่วมมือร่วมกัน เช่นเดียวกับ Thailand +1 สมาชิกแต่ละสมาชิก BIMSTEC +1 ก็จะขยายเป็น 14 คู่แห่งความร่วมมือ ซึ่งนายกรัฐมนตรีเนปาล เห็นพ้องว่าเนปาลและไทย ยังสามารถขยายความร่วมมือในสาขาต่าง ๆ รวมทั้งประเด็นที่อยู่ในความสนใจของโลก เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในมติประชาชนกับประชาชน ยังมีความเชื่อมโยงผ่านรากเหง้าแห่งศาสนา วัฒนธรรม คติ ความเชื่อ และเมื่อเนปาลประสบเหตุการณ์แผ่นดินไหวอย่างรุนแรง ประเทศไทยยังได้ส่งทีมแพทย์ พยาบาล มาให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้น และยังส่งมอบสิ่งของ เครื่องใช้ต่างๆ รัฐบาลและประชาชนเนปาลขอชื่นชมและขอบคุณในโอกาสนี้ด้วย
พล.ท.วีรชน กล่าวว่านายกรัฐมนตรี ในนามของรัฐบาลและคนไทย ได้มอบยาและเวชภัณฑ์แก่นายกรัฐมนตรีเนปาล โดยเป็นส่วนหนึ่งที่ฝ่ายไทยอยู่ระหว่างการดำเนินการจะส่งมอบยาและเวชภัณฑ์เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยชาวเนปาล.-สำนักข่าวไทย