ญี่ปุ่น 31 ก.ค. – เตรียมเสนอ กพช.กำหนดหลักเกณฑ์ราคานำเข้า LNG ของ กฟผ. คาดเก็บค่าภาคหลวงปิโตรเลียม เพิ่มเป็น 42,000-43,000 ล้านบาท
นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า ประเทศไทยจะมีความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG ) เพื่อทดแทนก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น เนื่องจากกำลังการผลิตก๊าซในอ่าวไทยจะลดลงเหลือประมาณ 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันหลังปี 2565 จากปัจจุบันอยู่ที่ 3,800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ขณะที่ก๊าซจากประเทศเมียนมาร์จะหมดสัญญาลงในปี 2570 ทำให้กระทรวงพลังงานต้องเตรียมความพร้อมรองรับการนำเข้า LNG ในอนาคต ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) อนุมัติให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จัดหา LNG รายใหม่ 1.5 ล้านตันต่อปี จากเดิมมี ปตท.เพียงรายเดียว และเริ่มจัดหาภายในปี 2561 และนำเข้ามาในปี 2562 ส่วนราคาก๊าซ ระยะเวลาสัญญา และปริมาณนำเข้าจะพิจารณาอีกครั้ง
ทั้งนี้ กฟผ.มีแผนจะนำเข้า LNG คาร์โกแรก 75,000 ตันในช่วงปลายปีนี้ แต่เป็นช่วงฤดูหนาวในแถบยุโรป และอเมริกา อาจทำให้ราคา LNG ปรับสูงขึ้น นอกจากนี้ การนำเข้าล็อตเล็กราคาอาจจะสูงกว่าการนำเข้าล็อตใหญ่ ดังนั้น กระทรวงพลังงานจะต้องนำเสนอคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) และ กพช.พิจารณากำหนดหลักเกณฑ์ราคานำเข้า LNG ของ กฟผ. ซึ่งมีรายงานข่าวอาจจะพิจารณาวันที่ 3 สิงหาคม 2561
นายวีระศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับการเก็บค่าภาคหลวงปิโตรเลียมของประเทศครึ่งปีแรกของปี 2561 อยู่ที่ 21,922 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้ส่งเข้าท้องถิ่น 1,079 ล้านบาท และส่งเข้าคลัง 20,843 ล้านบาท ขณะที่ทั้งปีนี้คาดว่าค่าภาคหลวงฯ จะอยู่ที่ 42,000-43,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่มีค่าภาคหลวงฯ อยู่ที่ 40,232 ล้านบาท เนื่องจากราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา ซึ่งกรมฯ อยู่ระหว่างปรับปรุงการจัดสรรรายได้จากค่าภาคหลวงให้ท้องถิ่นมากขึ้น จากปัจจุบันแบ่งสัดส่วนค่าภาคหลวงให้องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ในพื้นที่ผลิตร้อยละ 20 , อบต.อื่น ๆ ร้อยละ 20 , อบต.ทั่วประเทศ ร้อยละ 10 และ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ร้อยละ 20. – สำนักข่าวไทย