ทำเนียบฯ 25 ก.ค. – บอร์ดบีโอไอเห็นชอบขยายพื้นที่เมืองนวัตกรรมอาหารเพิ่มอีก 7 แห่ง หวังจูงใจลงทุนด้านการเกษตรด้วยการวิจัยและพัฒนา และขยายสิทธิประโยชน์แบบ EECi ให้ครอบคลุมถึงการลงทุนในพื้นที่อุทยานวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ ระหว่างรอก่อสร้าง EECi เสร็จปี 65
นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบอร์ดบีโอไอ ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ให้ขยายสิทธิประโยชน์โครงการลงทุนในเขตนวัตกรรมพิเศษภาคตะวันออก (EECi) เนื่องจากต้องใช้เวลาก่อสร้างเสร็จปี 2565 จึงผ่อนปรนให้การลงทุนด้านนวัตกรรมในพื้นที่อื่น สามารถเสนอขอรับสิทธิประโยชน์ โดยการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลอย่างน้อย 5-10 ปี และยังได้รับสิทธิเพิ่มเป็นพิเศษ เช่น การลดหย่อนอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 เป็นเวลา 5 ปี หรือเพิ่มปียกเว้นภาษีเงินได้อีกด้วย โดยกำหนดเงื่อนไขเมื่อยื่นขอใช้สิทธิ์ต้องลงทุนในกิจการเป้าหมายสำหรับ EECi เช่น การวิจัยและพัฒนา บริการทดสอบวิทยาศาสตร์ การผลิตระบบอัตโนมัติ และการพัฒนาซอฟต์แวร์มูลค่าเพิ่มสูง เป็นต้น ต้องยื่นคำขอภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2562 โดยต้องย้ายที่ตั้งไปอยู่ในเขต EECiภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2565 และยังต้องพัฒนาบุคลากรไทยในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (S&T) ร่วมกับสถาบันการศึกษาหรือสถาบันวิจัยให้ได้ตามเกณฑ์ที่กำหนด
ส่วนการพัฒนาเมืองนวัตกรรมอาหาร ( Food Innopolis) ให้เป็นเขตส่งเสริมการลงทุน นอกเหนือจากโครงการ Food Innopolis ที่ตั้งอยู่ในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานีเท่านั้น บอร์ดบีโอไอพิจารณาเห็นชอบให้เพิ่มพื้นที่อีก 7 แห่ง เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมอาหารของโลก ส่งเสริมกิจการเป้าหมาย เช่น การวิจัยพัฒนาด้านเกษตรอาหาร เทคโนโลยีชีวภาพ การปรับปรุงพันธุ์ และบริการทดสอบทางวิทยาศาสตร์ที่จะเข้าไปตั้งอยู่ในเมืองนวัตกรรมอาหารทั้ง 8 แห่ง ประกอบด้วย อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และภูมิภาค เช่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
นางสาวดวงใจ กล่าวเพิ่มเติมว่า การส่งเสริมการลงทุนในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2561 (ม.ค. – มิ.ย.) มียอดขอรับส่งเสริมการลงทุน 754 โครงการ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 22 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มูลค่าเงินลงทุน 284,600 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นโครงการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย 316 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 46 ของจำนวนโครงการทั้งหมด มูลค่าเงินลงทุนรวม 224,150 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 82 ของมูลค่าเงินลงทุนโดยรวม
สำหรับการขอรับส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ EEC มี 142 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 183,230 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปี 2560 ร้อยละ 122 ซึ่งบีโอไอมั่นใจว่าโครงการลงทุนขนาดใหญ่อีกหลายรายจะยื่นขอรับส่งเสริมในช่วงครึ่งหลังของปี 2561 จากเป้าหมายการส่งเสริมการลงทุนทั้งปี 720,000 ล้านบาท เพราะส่วนใหญ่หลายโครงการจะเสนอโครงการจำนวนมากในช่วงปลายปีเพื่อเตรียมแผนการลงทุนในปีต่อไป.-สำนักข่าวไทย