ป.ป.ช. 20 ก.ค.-“วิษณุ” ชี้การตีความกฎหมาย ต้องทำให้ประชาชนเข้าใจได้ง่าย เพื่อป้องกันความผิดพลาด ระบุ กกต.อาจใช้บรรทัดฐานเดียวกับคดีตนเอง นำไปสู่การวินิจฉัยกรณีคุณสมบัติ 90 สนช.
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “การตีความกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมาย” ในงานสัมมนาสาธารณะของหลักสูตร “นักบริหารยุทธศาสตร์การป้องกันและปราบปรามทุจริตระดับสูง” (นยปส.) รุ่นที่ 9 ตอนหนึ่ง ว่า การตีความกฎหมาย ในฐานะที่เป็นเครื่องมือในการบังคับใช้กฎหมาย คือ การค้นหาความหมายของคำ เพื่อให้ตรงกับเจตนารมณ์ในการบังคับใช้ และเพื่อให้เกิดความยุติธรรม อีกทั้งเป็นการหาความหมายที่จริงในการบังคับใช้ เพราะกฎหมายมีการใช้ภาษาที่เป็นศิลปะชั้นสูง มีความสลับซับซ้อน จึงต้องมีการค้นหาความหมายของคำเพื่อให้เข้าใจได้ง่ายและเข้าถึงชุมชนชั้นป้องกันการเข้าใจผิดของประชาชนและผู้ใช้กฎหมาย พร้อมตีกรอบคำจำกัดความให้ได้อย่างชัดเจน รวมถึงการป้องกันการทุจริตให้เป็นรูปธรรม ส่งเสริมให้ประชาชนเด็กและเยาวชนเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีค่านิยมสุจริต ไม่ทนต่อการทุจริต และนำประเทศไทยสู่สังคมที่มีความโปร่งใสและยั่งยืน
“การตีความกฎหมาย จึงถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะบางคดีจบลงที่ขั้นตอนของหน่วยงานฝ่ายบริหารกว่า 80% จึงไม่ได้รับการแก้ไขอย่างยั่งยืน ดังนั้น ผู้ที่ตีความกฎหมายเก่ง ต้องร่างกฎหมายเก่งเช่นกัน เพราะหลักภาษาเป็นสิ่งที่สำคัญ รวมถึงหลักตรรกะ ที่จะต้องแปลความให้สมเหตุสมผล และเมื่อเปลี่ยนคนตีความ จะผิดโดยทันทีหากมีการแก้ไขกฎระเบียบ ซึ่งต้องระมัดระวังในการใช้คำพูดก่อนการตีความที่ถูกต้อง” นายวิษณุ กล่าว
โดยนายวิษณุ ยกตัวอย่างกรณีที่ กกต.มีมติวินิจฉัยว่าตัวเองและรัฐมนตรีอื่น ๆ รวม 8 คนว่าไม่ขาดคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรี หลังมีผู้ร้องเรียนขอให้ตรวจสอบการถือหุ้นส่วนในธุรกิจสัมปทานของรัฐ และการไปดำรงตำแหน่งอื่นในหน่วยงานของรัฐ โดยนายวิษณุ ชี้แจงว่า กรณีของตนนั้น ถูกร้องเพราะเป็นกรรมการสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นตำแหน่งที่กฎหมายไม่อนุญาตให้เป็นได้ระหว่างเป็นรัฐมนตรี แต่ที่ กกต.วินิจฉัยว่าไม่ขาดคุณสมบัติ เนื่องจากบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญมีการกำหนดยกเว้นข้อห้ามดังกล่าวไว้กับรัฐมนตรีชุดปัจจุบัน แต่ให้เริ่มใช้กับรัฐมนตรีหลังที่มีการเลือกตั้ง ทำให้ตนพ้นจากการกล่าวหา
นายวิษณุ กล่าวว่า ส่วนรัฐมนตรีคนอื่น ๆ ที่ถูกร้องนั้น เพราะไปมีหุ้นส่วนในธุรกิจสัมปทานของรัฐ โดยเฉพาะ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดห้ามไว้ แต่เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยไว้เป็นบรรทัดฐานว่า เป็นการห้ามถือหุ้นระหว่างที่เป็นรัฐมนตรีอยู่ ไม่ได้หมายรวมถึงการถือหุ้นก่อนหน้าจะเป็นรัฐมนตรี ดังนั้นจึงไม่ขาดคุณสมบัติ เพราะการถือหุ้นของรัฐมนตรีที่ถูกร้องเป็นการถือมาก่อนหน้าที่จะเป็นรัฐมนตรี และกรณีนี้ยังเป็นบรรทัดฐานให้กับสมาชิก สนช.เกือบ 100 คน ที่ถือหุ้นในธุรกิจสัมปทานอยู่ด้วย ทำให้ไม่มีความผิด อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ มีสมาชิก สนช. 90 คน ที่ กกต. อยู่ระหว่างไต่สวนว่าขาดคุณสมบัติหรือไม่ เนื่องจากมีการถือหุ้นในธุรกิจสัมปทานของรัฐ และอาจจะไม่มีความผิด เพราะใช้บรรทัดฐานเดียวกัน
นายวิษณุ กล่าวอีกว่า แผนยุทธศาสตร์การป้องกันและปราบปรามทุจริต ถือเป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญในแผนแม่บทที่เป็นส่วนหนึ่งในยุทธศาสตร์ชาติใน 20 ปี ซึ่งเจ้าหน้าที่หน่วยงานของรัฐและทุกคนจะต้องปฏิบัติตาม และหากเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. เห็นว่าสิ่งที่ตกผลึกในวันนี้ เป็นประโยชน์ ขอส่งต่อไปยังสภาพัฒน์ฯ ในฐานะฝ่ายเลขาของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อรวบรวมสอดแทรกไว้ในแผนแม่บทที่กำลังจะดำเนินการต่อไป.-สำนักข่าวไทย