ป.ป.ช. 20 ก.ค.-รองนายกฯ เตรียมเสนอ ครม.ตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาลิขสิทธิ์ที่เกี่ยวข้องกับ 13 หมูป่าอะคาเดมี พร้อมสั่ง พม.เตือนสื่อต่างชาติสัมภาษณ์เด็ก ชื่นชมสื่อไทยเข้าใจกฎระเบียบเป็นอย่างดี
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เมื่อวานนี้ (19 ก.ค.) ได้มีการประชุมคณะกรรมการวีดิทัศน์และภาพยนตร์แห่งชาติ ซึ่งตนได้รับทราบว่ามีบริษัทภาพยนตร์ต่างชาติ 5 บริษัทติดต่อผ่านกระทรวงการต่างประเทศเพื่อขอถ่ายทำภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับการช่วยเหลือทีมฟุตบอลเยาวชนหมูป่าอะคาเดมีและโค้ช 13 คนที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย โดยคณะกรรมการชุดนี้จะต้องพิจารณารายละเอียดตั้งแต่บทภาพยนตร์ รวมถึงพิจารณาว่าเนื้อหาจะกระทบต่อชื่อเสียงเกียรติภูมิของประเทศ หรือกระทบต่อความมั่นคงและการดูแลรักษาธรรมชาติหรือไม่
“เรื่องการช่วยเหลือ 13 เยาวชนทีมหมูป่าอะคาเดมีนั้นไม่มีลิขสิทธิ์ ใครจะเขียนเป็นหนังสือในแต่ละประเทศ ก็สามารถทำได้ แต่จะกระทบกับประเทศไทย ก็ต่อเมื่อมีการติดต่อเข้ามาเพื่อขอถ่ายทำภาพยนตร์สารคดี ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีคำขอมาโดยตรง จากกรณีนี้ ได้เตรียมเสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้พิจารณาตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจดูแลคุ้มครองเด็กและเยาวชน 13 คนในทีมหมูป่าอะคาเดมี รวมถึงหน่วยซีลและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องที่จะให้สัมภาษณ์ข้อมูลหรือมีการติดต่อขอเซ็นสัญญา โดยคณะกรรมการชุดดังกล่าวจะดูแลในเรื่องของกฎหมาย และให้คำแนะนำ ซึ่งลิขสิทธิ์จะเป็นของแต่ละบุคคล รัฐบาลเป็นเพียงผู้จัดการที่ไม่ได้มีส่วนได้เสีย” นายวิษณุ กล่าว
นายวิษณุ กล่าวด้วยว่า ส่วนกรณีที่มีสื่อมวลชนต่างชาติไปสัมภาษณ์เยาวชนทีมหมูป่าอะคาเดมีนั้น เป็นเรื่องกฎหมายคุ้มครองเด็กว่าแต่ละคนให้ข้อมูลโดยสมัครใจหรือไม่ ขณะนี้รัฐบาลได้สั่งการให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ดูแล และตักเตือนว่าอย่าให้ละเมิดเด็กในช่วงเวลานี้ที่ทุกฝ่ายกำลังพยายามรักษาสภาพจิตใจของเด็ก แต่มั่นใจว่าอีกสักระยะหนึ่ง สื่อมวลชนน่าจะเข้าไปสัมภาษณ์เยาวชนทีมหมูป่าอะคาเดมีได้
“หลังจากที่สื่อต่างชาติเข้าไปสัมภาษณ์เด็กทั้ง 13 คนในช่วง 1-2 วันที่ผ่านมาแล้ว ก็ได้โทรศัพท์ติดต่อไปยังนายอำเภอแม่สายว่าให้ดูแลเรื่องการให้สัมภาษณ์อย่างเข้มงวด ยืนยันว่าสื่อไทยเข้าใจในกฎระเบียบที่ทางการได้ขอความร่วมมือในการปฏิบัติ แต่สื่อต่างชาติอาจจะไม่ทราบกฎระเบียบข้อห้ามของไทยและอาจไม่ทราบโทษของกฎหมายคุ้มครองเด็ก” นายวิษณุ กล่าว
สำหรับเหตุผลที่ไทยไม่ได้จัดสร้างภาพยนตร์เองนั้น นายวิษณุ กล่าวว่า ไทยมีความเชี่ยวชาญเรื่องเทคนิคการถ่ายทำ แต่ติดปัญหาเรื่องทุนในการสร้าง ซึ่งเรื่องการพิจารณาอนุญาตถ่ายทำ จะให้คณะกรรมการเฉพาะกิจชุดดังกล่าวเป็นผู้ดำเนินการ เชื่อว่าหลังจากนี้อาจมีการทำเป็นเกมอะนิเมชั่นสารคดี หรือภาพยนตร์ โดยขณะนี้มีการติดต่อขอทำเป็นภาพยนตร์ซีรีส์ 5 ตอนที่จะฉายไปทั่วโลก ยอมรับว่าขณะนี้ห่วงเรื่องความเป็นส่วนตัว ต้องการให้เด็กกลับเข้าสู่ภาวะปกติในการดำเนินชีวิต และห่วงเรื่องข้อมูลข่าวสารที่เป็นความลับของทางราชการ เกรงว่าจะมีการเปิดเผย อีกทั้งยังห่วงมิติของความมั่นคง รวมถึงกังวลเรื่องการเซ็นสัญญาระหว่างเด็กและบริษัทต่างชาติที่ต้องการลิขสิทธิ์ ซึ่งกรณีดังกล่าวเคยเกิดขึ้นมาแล้ว และท้ายที่สุด คนที่เซ็นสัญญาก็ไม่สามารถดำเนินการใด ๆ ได้ นับเป็นบทเรียนที่ทำให้รัฐบาลต้องจัดคนเข้าไปดูแล ซึ่งเรื่องนี้ ถือเป็นระเบียบที่ปฏิบัติกันทั่วโลก ไม่ใช่การเซ็นเซอร์ตัวเอง
รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยอีกว่า ภายใน 1-2 วันนี้ จะมีการประกาศร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในราชกิจจานุเบกษา.-สำนักข่าวไทย