ก.คลัง 21 ก.ย. – นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยระหว่างเป็นประธานเปิดการประชุม Workshop ในโครงการ National e-Payment “เรียนรู้ และก้าวไปกับ Fintech ในแง่มุมของ National e-Payment” ว่า หลังจากเปิดให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยลงทะเบียนรับสวัสดิการจากภาครัฐ 8.3 ล้านคน ขณะนี้กรมสรรพากรอยู่ระหว่างตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ลงทะเบียน เพื่อให้สอดคล้องกับเงื่อนไขกำหนดมีรายได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี คาดว่าจะตรวจเสร็จเดือนตุลาคมนี้
ดังนั้น ก่อนเสนอ ครม.พิจารณาการรับสวัสดิการกับผู้มีรายได้น้อย 2-3 มาตรการ เช่น มาตรการเกี่ยวกับรายได้และมาตรการดูแลความเสี่ยงในการดำรงชีวิต เช่น การทำประกันชีวิต จึงต้องหารือกับสำนักงบประมาณ เพื่อจัดสรรงบประมาณดูแลระบบสวัสดิการคาดว่าต้องใช้เงินเกิน 1,000 ล้านบาทต่อปี คาดว่าเสนอ ครม.ได้เร็ว ๆ นี้ เพื่อมอบสวัสดิการให้ประชาชนได้ในไตรมาส 4 ปีนี้
นอกจากนี้ ยังต้องศึกษามาตรการอื่นเพิ่ม ทั้งบัตรผู้มีรายได้น้อยไปใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะทั้งรถไฟ รถไฟฟ้า รถเมล์ เนื่องจากค่าใช้จ่ายเดินทางมีสัดส่วนถึงร้อยละ 20-30 ของค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และเมื่อจัดสรรสวัสดิการปีนี้ไปแล้วจะสอบถามความพอใจกับกลุ่มดังกล่าว หากต้องการพร้อมจัดสรรปีต่อไปเพิ่ม หรือต้องปรับปรุงเงื่อนไขให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ เช่น ปรับรายได้เพิ่มเป็น 150,000 บาทต่อปี อย่างไรก็ตาม ยอมรับการจ่ายสวัสดิการผ่านระบบ e- Payment ทำให้รัฐบาลช่วยเหลือได้อย่างถูกกลุ่ม ถูกเป้าหมาย ไม่สิ้นเปลืองงบประมาณ หรือเกิดการรั่วไหล เช่น การช่วยเหลือผู้มีปัญหาหนี้นอกระบบ กลุ่มชาวนา ยางพารา กลุ่มผู้ต้องการมีบ้าน เมื่อรัฐบาลมีข้อมูลเหล่านี้แล้วจะได้จัดสรรแนวทางการช่วยเหลือได้อย่างถูกต้องมากขึ้น
นายอนุชิต อนุชิตานุกูล กรรมการนโยบายขับเคลื่อน National e- Payment มองว่า เมื่อไทยยังติดอยู่กับสังคมใช้เงินสด จึงไม่สามารถก้าวสู่ระบบการเงินแบบดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ เพราะมีปัญหาค่าธรรมเนียม เนื่องจากธนาคารต่าง ๆ ให้บริการการรับ-จ่ายเงินสด แม้จะมีต้นทุนสูง แต่มีผู้ใช้บริการจำนวนมาก จึงไม่คิดค่าธรรมเนียมหรือคิดค่าธรรมเนียนต่ำ แต่เก็บค่าธรรมเนียมอัตราสูงกับผู้ใช้บริการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีต้นทุนต่ำและมีจำนวนผู้ใช้บริการไม่มาก จึงทำให้คนส่วนใหญ่เลือกใช้บริการการรับ-จ่ายด้วยเงินสด แนวทางแก้ปัญหาจึงต้องลดค่าธรรมเนียม และทำให้ประชาหันมาใช้ระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์แทนเงินสดไปพร้อมกัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเตรียมระบบรองรับ e- Payment ให้มีความพร้อม.-สำนักข่าวไทย