ระยอง 19 ก.ค.- ปตท.หนุนนวัตกรรม ร่วมมือ 9แบงก์ใช้ดิจิทัลทำธุรกิจ พัฒนาEECI วังจันทร์วัลเลย์ เป็นฐานพัฒนาความแข็งแกร่งประเทศ ด้านVISTEC เตรียมเปิด 2คณะใหม่เชื่อมโยงสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตร
นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าเทคโนโลยีและวิศวกรรม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปตท.สนับสนุนการพัฒนานวัตกรรม ทั้งด้านการศึกษาวิจัยเชื่อมโยงการพัฒนาผู้ประกอบการStart up ในการพัฒนาประเทศ และนำเทคโนโลยีดิจิทัล มาใช้ในการดำเนินธุรกิจทุกขั้นตอน โดยในด้านการเงินนั้น ปตท.ได้ลงนามร่วมกับ 9 สถาบันการเงินทั้งในและต่างประเทศนำเทคโนโลยี เช่น E-Wallet Blockchain มาใช้ธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ
ทั้งนี้ นายชาญศิลป์ กล่าวในระหว่างร่วมกับศ.ดร.จำรัส ลิ้มตระกูล อธิการบดีสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) ให้การต้อนรับสื่อมวลชนเยี่ยมชมอาคารสำนักวิชาแห่งใหม่ 2 สำนักวิชา ได้แก่ สำนักวิชาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมชีวโมเลกุล (School of Biomolecular Science and Engineering: BSE) ซึ่งได้รับการสนับสนุนการจัดตั้งโดยธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) และสำนักวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ (School of Information Science and Technology: IST) ได้รับการสนับสนุนการจัดตั้งโดยธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) โดย 2 อาคารนี้ ทาง VISTEC ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จพระราชดำเนินเปิดอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 23 สิงหาคมนี้
นายชาญศิลป์กล่าวว่ากลุ่ม ปตท. สนับสนุนการพัฒนาระบบการศึกษาไทย โดยเห็นว่าการพัฒนาประเทศที่เข้มแข็งต้องเดินหน้าด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจึงร่วมจัดตั้งVISTEC เปิดการเรียนการสอนในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2558 วางเป้าหมายให้เป็นสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำระดับโลก ติดอันดับ 1 ใน 50 สถาบันวิจัยระดับโลกภายใน 20 ปี และเป็นสถาบันฯ ที่จะช่วยสร้างบุคคลากรคุณภาพในการสร้างสรรค์งานวิจัยชั้นสูงที่สามารถก่อให้เกิดนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ พัฒนาเป็นสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมที่ยั่งยืนให้กับประเทศต่อไป
“ตลอดระยะเวลากว่า 40 ปี กลุ่ม ปตท. ให้ความสำคัญกับ “การศึกษา” ซึ่งเป็นเครื่องมือพื้นฐานในการพัฒนาบุคลากรที่จะช่วยเสริมสร้างความก้าวหน้าให้กับประเทศ ให้แข็งแกร่งและมีศักยภาพพร้อมแข่งขันในเวทีโลกอย่างต่อเนื่อง” นายชาญศิลป์กล่าว
นายชาญศิลป์ กล่าวว่า พื้นที่VISTECในวังจันทร์วัลเลย์ จ.ระยองจะเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรือ EECi ที่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)อยู่ระหว่างเชิญชวนนักลงทุน ซึ่งมีผู้ประกอบการสนใจตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนากล่าวเพิ่มว่า เข้ามาอยู่ในพื้นที่ ในขณะที่ ปตท.จะเป็นผู้ลงทุนระบบโครงสร้างพื้นฐานไฟฟ้าระบบน้ำ และอื่นๆให้เป็นสมาร์ทซิตี้โดยจะเปิดประมูลการลงทุนในเร็วนี้ ในขณะที่ สวทช.จะเป็นผู้ลงทุนด้านอาคารต่างๆ โดยจะลงทุนใน3 อุตสากรรมหลัก คือ ระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และระบบอัจฉริยะ (ARIPOLIS) อุตสาหกรรมชีวภาพ (BIOPOLIS)และอุตสาหกรรมการบิน (Space innopolis) โดยวังจันทร์วัลเลย์จะเป็นพื้นที่เชื่อมโยงผู้ประกอบการStart Up กับนวัตกรรมให้เกิดความเข้มแข็งเพราะนอกจากจะมีความเป็นเลิศด้านวิชาการแล้วยังใช้ประโยชน์จากโรงงานในกลุ่ม ปตท.ในการพัฒนาเทคโนโลยี
ทั้งนี้ การพัฒนาโครงการ EECi จะถูกแบ่งออกเป็น 3ระยะ ซึ่งในระยะแรกจะมีพื้นที่ประมาณ 800 ไร่ คาดว่าจะใช้ระยะเวลา 5 ปี แบ่งเป็นพื้นที่พักผ่อน 100 ไร่, พื้นที่เชิงพาณิชย์ 50ไร่, พื้นที่ก่อสร้างได้ 200ไร่และพื้นที่ทดสอบนวัตกรรม 115 ไร่ จากนั้นจะเริ่มพัฒนาระยะที่ 2 ภายใน 10 ปี แบ่งเป็นพื้นที่ทดสอบนวัตกรรม 115 ไร่ และโซลาร์ฟาร์ม150ไร่ ส่วนระยะที่3 จะพัฒนาภายใน 15 ปี แบ่งเป็นพื้นที่โซลาร์ฟาร์ม 150 ไร่ และพื้นที่ป่าและการเกษตร 258 ไร่
ศ.ดร.จำรัส กล่าวว่า การวิจัยของนักศึกษาและหน่วยงานต่างๆทำให้เกิดผลดี ที่หลากหลาย โดยในส่วนการวิจัยด้านเคมี Vistec มีมาก ที่สุดในไทยและเป็นอันดับ 3 ในอาเซียน ซึ่งผลงานวิจัยแบตเตอรี่ลิเทียมร่วมกับกระทรวงพลังงานโดยงบสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน 150 ล้านบาท โดยใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นส่วนผสมในขั้วบวกขั้วลบ ทำให้ต้นทุนถูกลงร้อยละ30และจะมีการตั้งโรงงานปั๊มแบตเตอรี่ เพื่อนำไปใช้เป็นแบตฯใน รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า (E-Tuk Tuk) ที่กระทรวงพลังงานสนับสนุนให้เกิดขึ้นในจังหวัดภูเก็ต และล่าสุดยังจะร่วมกับมิตรผลใช้งบอีก50 ล้านบาท วิจัยสารFurfural มาใช้ต่อยอดอุตสาหกรรมน้ำตาลทราย สร้างมูลค่าเพิ่มโดยสามารถเปลี่ยนวัตถุดิบมาสร้างมูลค่าเพิ่มทั้งทางBiochemical, เครื่องสำอาง และอื่นๆ.-สำนักข่าวไทย