กรุงเทพฯ 21 มิ.ย. – จากปัญหาคนจบปริญญาตรีตกงาน ไม่มีงานทำ กว่า 170,000 คน ทำให้กระทรวงแรงงานต้องออกมาตรการช่วยเหลือ ขณะที่นักวิชาการมองว่า การแก้ปัญหาควรเริ่มที่ระบบการศึกษา
เรียนจบปริญญาตรี แต่เตะฝุ่น ไม่มีงานทำ เป็นปัญหาที่สังคมต้องจับตาอีกครั้ง หลังสำนักงานสถิติแห่งชาติ เผยเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มีคนว่างงาน 400,000 คน และเป็นผู้จบปริญญาตรีสูงที่สุด คือ 170,900 คน เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายนถึง 9,300 คน ส่วนใหญ่เป็นสายสังคมศาสตร์ ซึ่งเด็กเลือกเรียนมากที่สุด
จิ๋ว นักศึกษาคณะศิลปศาสตร์ เลือกเรียนคณะที่ชอบ และอยากทำงานตรงสาย แต่ตลาดแรงงานต้องการน้อย จึงกังวลว่าอาจเป็นหนึ่งในเด็กจบใหม่ที่ต้องตกงาน จึงหาทางเลือกใหม่ ผันตัวไปทำอาชีพอื่น
เปลี่ยนงานบ่อย รองาน เลือกงาน เรียนตามกระแส ไม่ตรงความต้องการของตลาด คือ สาเหตุที่ทำให้เด็กจบใหม่เฉลี่ยปีละ 300,000 คน ต้องว่างงานมากกว่าครึ่ง แต่นักวิชาการมองว่า ปัญหาอยู่ที่ความเก่าของหลักสูตรที่เน้นผลิตเด็กเพื่อรองรับตลาดแรงงานเมื่อ 8 ปีก่อน ทำให้เด็กจบใหม่ทำงานไม่ตรงสาย เกิดการว่างงาน ทางออกสำคัญนอกจากการพัฒนาหลักสูตรให้ทันสมัย อิงความต้องการของตลาดในอนาคตแล้ว นักศึกษาเองควรปรับตัว อย่าเน้นเรียนแค่ตามตำราเท่านั้น
กระทรวงแรงงาน ได้วางแนวทางแก้ปัญหา 2 ระยะ คือ ระยะเร่งด่วน 3 เดือน ตั้งเป้าสร้างงาน 100,000 คน โดยจัดตั้งศูนย์บริการจัดหางาน 11 แห่งทั่วประเทศ แนะแนวอาชีพ จับคู่ตำแหน่งงานระหว่างผู้ที่กำลังหางานกับสถานประกอบการ เริ่ม 1 กรกฎาคมนี้ ส่วนมาตรการระยะยาว 1-2 ปี จะร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ แนะแนวอาชีพตั้งแต่ระดับประถม ปรับหลักสูตรสร้างทัศนคติในการเลือกศึกษาต่อตามที่ตลาดต้องการ
ในยุคที่ตลาดแรงงานเน้นทักษะและประสบการณ์ ใบปริญญาของเด็กจบใหม่อาจไม่ตอบโจทย์ เพราะผลสำรวจของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุชัดความต้องการของตลาดแรงงานปีนี้เป็นกลุ่มวิชาชีพเฉพาะทาง อย่างแพทย์ผิวหนัง โปรแกรมเมอร์ นักการตลาดออนไลน์ นักการเงิน กราฟฟิกดีไซน์ การท่องเที่ยว สถาปนิก ครูสอนพิเศษ และนักบัญชี. – สำนักข่าวไทย