รร.สวิสโฮเต็ล 20 มิ.ย. – ก.อุตฯ เติมความรู้ เสริมความแกร่งเอสเอ็มอี รองรับยุคดิจิทัล
นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวระหว่างเปิดงานสัมนาเชิงปฏิบัติการส่งเสริมความรู้ด้านบริหารจัดการการเงิน “เสริมแกร่ง SME รอบรู้เรื่องบัญชีและการเงิน” ครั้งที่ 1 ว่า ภาพรวมเศรษฐกิจดีขึ้นจากดัชนีอุตสาหกรรมสูงสุดในรอบ 20 เดือน ขณะที่กำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรมสูงสุดในรอบ 60 เดือน ประมาณร้อยละ 74-76 การนำเข้าวัตถุดิบเพื่อการผลิตสูงขึ้นต่อเนื่อง นับว่าเอกชนขยายกำลังการผลิตสูงมาก แต่หลังจากนี้จะส่งผลไปยังเอสเอ็มอีและผู้ประกอบการรายย่อย เมื่อผู้ประกอบการต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทั้งการใช้หุ่นยนต์มาช่วยการผลิต การใช้เทคโนโลยีปรับปรุงผลิตภัณฑ์ การใช้ออนไลน์เพื่อการตลาด การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เหล่านี้ย่อมกระทบต่อเอสเอ็มอีอย่างมาก
ปัจจุบันสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) ร่วมกันดูแลผู้ประกอบการเอสเอ็มอีผ่านกองทนตามแนวทางประชารัฐ วงเงิน 20,000 ล้านบาท แต่ยอมรับว่าการช่วยเหลือทางการเงินเป็นการต่ออายุระยะสั้น เหมือนกับการให้อาหารผู้ป่วย แต่การเติมความรู้และมาตรการที่ไม่ใช่ทางการเงิน จะช่วยเติมความแข็งแกร่งของกล้ามเนื้อให้แข็งแรง เพิ่มภูมิต้านทานให้กับเอกชนรองรับการแข่งขัน นอกจากนี้ ยังเตรียมลงนามร่วมกับ HKTCDC ของฮ่องกง ระหว่างคณะนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เดินทางโรดโชว์สัปดาห์หน้า เพื่อมาร่วมกับหน่วยงานของไทยพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอี
นายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการ สสว. เปิดเผยว่า หลังจากพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไปแล้วกว่า 20,000 รายในปี 2561 ได้เน้นขยายการฝึกอบรมไปยังไมโครเอสเอ็มอี เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยจะขยายไปทั่วทุกภูมิภาค 5 ครั้ง สำหรับผู้เป็นสมาชิกของ สสว.ทั้งที่เป็นนิติบุคคลและ บุคคลธรรมดาที่ลงทะเบียนกับหน่วยงานของรัฐ ยังดำเนินธุรกิจไม่ต่ำกว่า 3 ปี และเข้าสู่ระบบบัญชีเดียว เริ่มตั้งแต่บัดนี้ต่อเนื่องไปถึงเดือนสิงหาคม 2561 โดยมีสถาบันการเงินช่วยดูแลสภาพคล่องและการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเมื่อต้องส่งออกไปต่างประเทศ
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ได้สั่งระงับการนำเข้าเศษพลาสติก ขยะอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งหมดจนกว่าจะเคลีย่ร์ปัญหา เพราะได้ยึดใบอนุญาต 5 โรงงานผู้นำเข้า เนื่องจากทำผิดเงื่อนไข จากปัจจุบันนำเข้าจากต่างประเทศประมาณ 100,000 ตัน ขณะที่ขยะอิเล็กทรอนิกส์ เศษพลาสติกในประเทศประมาณ 2 ล้านตัน นำมารีไซเคิล 500,000 ตัน เพราะสินค้าอุตสาหกรรมส่งออกไปต่างประเทศบางรายกำหนดให้ใช้สินค้ารีไซเคิล แต่เมื่อการนำขยะมาล้างเพื่อรีไซเคิ้ลในประเทศยังมีต้นทุนสูงกว่าการนำเข้าจากต่างประเทศอาจต้องมีการไหลเข้ามาต่อเนื่อง จึงต้องเร่งดำเนินการทุกด้านให้พร้อม จึงค่อยหันมาเปิดนำเข้าอีกครั้ง. – สำนักข่าวไทย