นครนิวยอร์ก 23 ก.ย.- นายกรัฐมนตรี กล่าวถ้อยแถลงระหว่างเป็นประธานประชุมรัฐมนตรีกลุ่มจี 77 ย้ำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงปฏิบัติได้จริง ยึดหลักความพอประมาณ มีเหตุผลและมีภูมิคุ้มกัน นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
“จิตตานันท์ นิกรยานนท์” ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวไทย ที่ติดตามภารกิจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 71 ระหว่างวันที่ 18-25 กันยายน 2559 ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา รายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมระดับรัฐมนตรีกลุ่ม จี 77 ในวาระที่ 3 หัวข้อ “การใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสำหรับการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” โดยมีประธานสมัชชาสหประชาชาติสมัยที่ 71 และ เลขาธิการสหประชาชาติและรัฐมนตรีกลุ่ม 77 ร่วมประชุมด้วย ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว ได้รับรองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายหลังเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษสิ้นสุด แต่ภัยคุกคามและความท้าทายใหม่ ๆ ยังคงมีอยู่ ทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภัยธรรมชาติ โรคระบาด ความมั่นคงทางอาหาร-พลังงาน ภัยที่เกิดขึ้นจากมนุษย์ เช่น สงคราม นำมาซึ่งการโยกย้ายถิ่นฐานและพลัดถิ่น หลายทศวรรษที่ผ่านมา การรีบเร่งการพัฒนาเพราะเชื่อมั่นในการเติบโตทางเศรษฐกิจ จึงเกิดการแข่งขันแย่งชิงและแสวงประโยชน์ ซึ่งผู้ที่เข้มแข็งและได้เปรียบที่สุดจึงจะอยู่รอด
นอกจากนี้ ยังมุ่งเน้นความทันสมัย เป็นสังคมเมือง สังคมอุตสาหกรรม แต่ทอดทิ้งชนบท ทำให้ความเหลื่อมล้ำในสังคมเพิ่มขึ้น และสภาพแวดล้อม สังคมเสื่อมโทรมลง เพราะคิดกันว่า ขอให้ประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจก่อน แล้วจะกลับมาชดเชยคืนให้กับสังคมภายหลัง แต่ผลที่ตามมาร้ายแรงกว่านั้น เพราะตาม ทฤษฎีผีเสื้อ สิ่งเล็กๆ ที่ทำกันไปและไม่ได้คิดว่าจะมีผลร้ายแรง สุดท้ายอาจย้อนกลับมาส่งผลรุนแรงอย่างมากในอนาคต
“ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ปัญหามีแต่จะเพิ่มและรุนแรงขึ้น เชื่อมโยงและซับซ้อนยิ่งขึ้น โดยความท้าทายเหล่านี้เป็นความท้าทายร่วมกันของทุกประเทศ ประเทศไทยประสบวิกฤติเศรษฐกิจ ‘ต้มยำกุ้ง’ เมื่อปี 2540 สึนามิ เมื่อปี 2547 อุทกภัยครั้งใหญ่ เมื่อปี 2554 ทุกๆ ครั้ง ประเทศไทยฟื้นกลับอย่างรวดเร็ว และเข้มแข็งกว่าเดิม ซึ่งไม่ใช่ความบังเอิญหรือปาฏิหาริย์ แต่เป็นเพราะมีความตั้งใจจริง มุ่งมั่น และอดทน” นายกรัฐมนตรี กล่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปี 2540 เป็นจุดเปลี่ยนทำให้หยุดและค้นหาวิธีแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ จึงพบว่า การพึ่งพาโลกโดยไม่มีภูมิต้านทานจากภายในทำให้อ่อนแอ ได้รับผลกระทบได้ง่าย และไม่ยั่งยืน ไทยจึงน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแสงนำทางในทุกสาขาและทุกระดับ จนทำให้สามารถก้าวพ้นปัญหาและก้าวต่อไปอย่างมั่นคง โดยคำว่าพอเพียง ไม่ใช่ การสอนให้พอใจกับความยากจน แต่คือ การรักษาวิถีชีวิตที่สมดุลและพอประมาณ ซึ่งไม่ได้ขัดกับความร่ำรวยที่สุจริตและไม่เบียดเบียน
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงกลไกประชารัฐ ซึ่งเป็นการระดมพลังทุกภาคส่วน ทั้งรัฐ เอกชน ประชาสังคม ให้มาร่วมกันสร้างประโยชน์สูงสุดสอดคล้องกับการพัฒนาที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง สร้างโอกาสให้กับทุกคน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เป็นกลไกสำคัญเพื่อมุ่งสู่ ประเทศไทย 4.0 ซึ่งเน้นการขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม เพื่อให้หลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ซึ่งจะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อทุกคนในสังคมรู้หน้าที่และแบ่งปัน ขับเคลื่อนสังคมให้ก้าวไปข้างหน้าพร้อม ๆ กัน
“หัวใจของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เริ่มจากคนและชุมชน โดยเน้นการสร้างระบบคิดและการดำเนินชีวิตที่สมดุล ซึ่งตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนหลายเป้าหมายพร้อมๆ กัน ไม่ว่าจะการขจัดความยากจน ความหิวโหย สาธารณสุข การศึกษา ความเท่าเทียมทางเพศ การพัฒนาเมือง หรือการบริโภคที่ยั่งยืน ซึ่งตลอดกว่า 40 ปีที่ผ่านมา ได้นำหลักความพอประมาณและความมีเหตุมีผล ไปปรับใช้เป็นรากฐานต่อการอนุรักษ์โลก ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อาทิ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่มีการส่งเสริมการปลูกหญ้าแฝก เพื่อฟื้นฟูและรักษาคุณภาพดิน หรือ การปลูกป่า 3 อย่าง ได้ประโยชน์ 4 อย่างคือ การปลูกไม้ใช้สอย ไม้ผล และไม้ที่เป็นเชื้อเพลิง มีประโยชน์ 3 อย่าง และจะนำไปสู่ประโยชน์ที่ 4 คือ การอนุรักษ์ดินและน้ำ และคงความชุ่มชื้นไว้” นายกรัฐมนตรี กล่าว
ส่วนทางด้านเศรษฐกิจ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเริ่มเป็นที่รู้จักตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 โดยเฉพาะการพัฒนาแบบองค์รวม การบริหารจัดการความเสี่ยง มีเหตุผล และรับผิดชอบต่อส่วนรวม ไม่แสวงหากำไรเกินควรหรือเอาเปรียบผู้อื่น จึงตอบโจทย์เป้าหมายด้านการเติบโตเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและครอบคลุม การจ้างงานและงานที่มีคุณค่า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและอุตสาหกรรม ได้อย่างดี
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เป็นเรื่องน่ายินดีที่ประเทศส่วนใหญ่เริ่มรู้จักหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งสะท้อนให้เห็นความเป็นสากล จึงช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งของกลไกระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งนี้ ไทยมีหุ้นส่วนความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนกับประเทศสมาชิกกลุ่ม 77 ในแทบทุกภูมิภาค และริเริ่มเครือข่ายมิตรประเทศ หรือ Friends of SEP เพื่อนำไปสู่หุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา รวมถึงหุ้นส่วนในระดับเยาวชน เพราะเยาวชนในวันนี้คือชนรุ่นใหม่ที่มีความต้องการเช่นกัน การพัฒนาที่ยั่งยืนจะต้องตอบสนองความต้องการของคนในวันนี้และเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ตอบสนองความต้องการของตนในอนาคตด้วย
“ติมอร์-เลสเต ได้พัฒนาหมู่บ้านต้นแบบตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่เมืองเฮรา กว่า 6 ปีแล้ว ทำให้ได้เรียนรู้การทำเกษตรแบบผสมผสาน นำไปสู่ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมซึ่งได้รับความสนใจจากมิตรประเทศที่พัฒนาแล้ว จนกลายเป็นความร่วมมือไตรภาคี ไทย-เยอรมนี-ติมอร์ฯ เพื่อต่อยอดการผลิตที่มุ่งการค้า เน้นการเชื่อมโยงกับความต้องการของตลาดและการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ และนอกจากสาขาเกษตรแล้ว ความร่วมมือหุ้นส่วนในเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงยังสนับสนุนการพัฒนาในทุกสาขา ตั้งแต่การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ การพัฒนาคน หรือการบริหารธุรกิจ โดยให้ทุนและการฝึกอบรมในรูปแบบต่างๆ การพัฒนาศูนย์การเรียนรู้หลักแรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่เลโซโทและ สปป.ลาว การพัฒนาหมู่บ้านที่กัมพูชา การพัฒนาพื้นที่เกษตรกรรมแบบผสมผสานที่ต้องการ รวมทั้งโครงการในฟิจิที่กำลังจะเริ่มขึ้นเร็วๆ นี้” นายกรัฐมนตรี กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เพื่อนสมาชิกกลุ่ม 77 กว่า 22 ประเทศ แสดงความสนใจที่จะมีความร่วมมือเรื่องนี้กับไทย แม้ว่าไทยจะพ้นตำแหน่งประธานกลุ่ม 77 ในสิ้นปีนี้แต่ไทยจะจะยังมุ่งมั่นที่จะสานต่อการเผยแพร่หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแก่ต่างประเทศต่อไป ผ่านการให้ทุนการศึกษา การศึกษาดูงาน และโครงการการพัฒนา ฯลฯ ภายใต้ความร่วมมือหุ้นส่วนทวิภาคี ความร่วมมือ ใต้-ใต้ และไตรภาคี
นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการเข้าร่วมการประชุมผู้นำ G 20เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาในฐานะประธานกลุ่ม 77 ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นของการเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกระหว่างกลุ่ม G 20 และกลุ่ม 77 ซึ่งกลุ่ม G 20 มีศักยภาพและสนใจที่จะขยายความร่วมมือเพื่อสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้เป็นรูปธรรม ประเทศไทยเองก็พร้อมเป็นสะพานเชื่อมความร่วมมือไตรภาคีในเรื่องนี้ เช่น ไทยร่วมมือกับเยอรมนีในติมอร์-เลสเต และเยอรมนี ก็จะเป็นประธาน G 20 ปลายปีนี้ ขณะที่เอกวาดอร์ให้ความสนใจบ้างแล้วจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้ดำเนินร่วมกับเอกวาดอร์ ซึ่งจะเป็นประธานกลุ่ม 77 ในปี 2560
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่มีสูตรสำเร็จในการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงรับมือสิ่งท้าทายในปัจจุบัน เพราะในทุกๆ ครั้ง จะต้องศึกษาสภาพภูมิสังคมก่อน การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 เป้าหมาย ไม่ใช่ความฝัน แต่เป็นความจริงที่ทุกคนสามารถบรรลุได้ โดยจะช้าหรือเร็ว จะน้อยหรือมาก ขึ้นอยู่กับกำลังและความตั้งใจที่จะร่วมกันทำงาน ซึ่งการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังหมายความว่า จะร่วมกันสร้างศักยภาพให้กับสังคม ทุกคนจะก้าวพ้นปัญหาไปพร้อมๆ กัน ร่วมมือกัน ไม่แก่งแย่งกัน เกื้อกูลและแบ่งปันกัน ไม่แสวงประโยชน์จากกัน และทุกคนต้องรู้หน้าที่และทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด.- สำนักข่าวไทย