นครปฐม 18 มิ.ย. – หลังคดีทุจริตเงินทอนวัด มีการรณรงค์ให้วัดจัดทำบัญชีให้เป็นระบบ และมีการพูดถึงการที่พระไม่จับเงิน เพื่อให้เป็นไปตามพระธรรมวินัย รายงานพิเศษเรื่อง “สงฆ์กับทรัพย์” ตอนแรกวันนี้ จะพาไปดูวัดแห่งหนึ่งที่ จ.นครปฐม วัดนี้ไม่มีตู้บริจาคเงิน ไม่มีจุดถวายสังฆทาน เพราะเน้นให้พระศึกษาพระธรรมวินัย โดยรายรับหลักเป็นค่าที่จอดรถวัดวันเสาร์-อาทิตย์ ที่มีการจัดตลาดนัด
การเก็บค่าที่จอดรถ ภายในวัดพระงาม พระอารามหลวง จ.นครปฐม เป็นรายรับหลักของวัดแห่งนี้ เฉลี่ยเดือนละ 30,000-40,000 บาท วัดนี้อยู่ใจกลางเมือง ใกล้สถานที่สำคัญ เช่น องค์พระปฐมเจดีย์ และสถานที่ราชการ ในทุกวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ถนนด้านหน้าวัดมีตลาดนัดถนนคนเดิน ชาวนครปฐมส่วนมากทราบดีว่า วัดพระงามไม่เน้นรายได้จากเงินบริจาค หรือการทำบุญเชิงพุทธพาณิชย์ ทำให้ได้รับความศรัทธา
วัดพระงาม เดิมเป็นวัดราษฎร์ สังกัดมหานิกาย ต่อมาในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี เมื่อปี 2539 ภายในวัดไม่มีจุดถวายสังฆทาน ไม่มีตู้รับบริจาค ไม่มีการถวายสิ่งของ หรือทำบุญรายวัน รายรับจากค่าที่จอดรถ เงินทำบุญจากญาติโยมที่ถวายตามศรัทธา เช่น การยืมสิ่งของ โต๊ะหมู่บูชาของวัดไปใช้งาน การใช้สถานที่ เช่น การจัดงานศพ รวมประมาณเดือนละ 70,000 บาท จึงพอเพียงสำหรับจ่ายเป็นค่าส่วนกลางภายในวัด แต่พระในวัดจะต้องช่วยจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟแต่ละกุฏิเอง โดยใช้เงินที่ญาติโยมทำบุญจากการรับกิจนิมนต์ หรือเงินนิตยภัต เงินที่ได้จากการรับตำแหน่งพระสังฆาธิการ หรือได้สมณศักดิ์
พระในวัด บอกว่า แต่ละรูปจะมีเงินใช้จ่ายเท่าที่จำเป็น ไม่ใช่เพื่อการสะสมทรัพย์ ตามแนวคิดของอดีตเจ้าอาวาส ซึ่งปฏิบัติสืบต่อกันมา ไม่ต้องการให้พระยึดติดกับทรัพย์สิน เน้นให้ใช้เวลาไปกับการศึกษาพระธรรมวินัย แต่อนุญาตให้มีงานบุญประจำปีได้ เพื่อให้ผู้ศรัทธาได้ทำบุญ และตารางงานบุญจึงถูกกำหนดไว้อย่างชัดเจน
การบริหารจัดการภายในวัดพระงาม จ.นครปฐม แห่งนี้ แม้ไม่เน้นการบริจาค แต่พระในวัดสะท้อนว่า ฆราวาสหลายคนเคยชินกับการถวายเงิน หรือทรัพย์สินอื่น ทำให้พระสงฆ์มีทรัพย์สินในครอบครอง ถ้ายึดตามหลักพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด ก็ถือว่าผิด ทางวัดจึงหาวิธี ลดบทบาทของพระที่จะเกี่ยวข้องกับทรัพย์สิน โดยให้ไวยาวัจกรที่ได้รับความไว้วางใจและเป็นคนในชุมชน ดูแลการเงินและบัญชีแทน หากญาติโยมอยากจะทำบุญ ให้ใช้การสแกนคิวอาร์โค้ดแทนการรับเงินสด เพื่อโอนเงินเข้าบัญชีวัด โดยไม่ผ่านพระรูปใดรูปหนึ่ง ซึ่งวัดลักษณะนี้ไม่ค่อยพบเห็นมากนักในปัจจุบัน โดยเฉพาะการไม่เน้นรับบริจาค ไม่เน้นการระดมเงินทำบุญ เพื่อสร้างสิ่งก่อสร้างใหญ่ๆ ในวัด. – สำนักข่าวไทย