18 มิ.ย. – ตำรวจสอบสวนกลางร่วมกับ อย., สสจ.นครปฐม และสำนักงานปศุสัตว์ฯ ตัดวงจรยาสัตว์เถื่อนในพื้นที่นครปฐม สมุทรสาคร ยึดของกลาง มูลค่ากว่า 84 ล้านบาท
กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง พร้อมด้วยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา, สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครปฐม และสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดนครปฐม ได้ร่วมกันแถลงผลการปฏิบัติการกรณีบุกทลายเครือข่ายผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย และนำเข้ายาสัตว์เถื่อน ในพื้นที่ จ.นครปฐม และ จ.สมุทรสาคร ตรวจยึดของกลางกว่า 214,894 ชิ้น มูลค่าความเสียหายกว่า 84,000,000 บาท
โดยกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ได้รับเรื่องร้องเรียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้ทำการตรวจสอบการลักลอบผลิตยาสัตว์ สถานที่เก็บ และร้านจำหน่ายยาสัตว์เถื่อน ซึ่งหากนำมาใช้กับสัตว์อาจเกิดผลกระทบต่อสุขภาพของสัตว์เลี้ยง ส่งผลให้มีอายุสั้นลง เกิดการช็อก หมดสติ หรืออาจเสียชีวิต แม้ยาดังกล่าวไม่มีผลโดยตรงกับมนุษย์ แต่อาจก่อให้เกิดการระคายเคือง หรือแพ้ได้ โดยเมื่อประมาณ เดือนเมษายน 2567 เจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่จาก อย. ในการกวาดล้างแหล่งผลิต และจำหน่ายยาหยอดเห็บหมัดสัตว์เถื่อน ตรวจยึดของกลางกว่า 40,450 ชิ้น
จากการสืบสวนพบว่า กลุ่มเครือข่ายนี้เคยถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ กับ อย. ดำเนินคดีมาแล้วเมื่อปี พ.ศ.2563 กรณีคดีนักวิ่งถูกวางยา “ยาไซลาซีน” ที่ใช้ในกลุ่มสัตว์ในน้ำดื่ม ขณะที่ไปวิ่งที่สวนสาธารณะพื้นที่ จ.นนทบุรี แต่การสืบสวนยังพบการยังลักลอบผลิตและจำหน่ายมาอย่างต่อเนื่อง เจ้าหน้าที่ตำรวจ และ อย. ได้ประสานข้อมูลและเฝ้าระวังร่วมกันมาโดยตลอด โดยพบผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีแหล่งผลิตอยู่ในพื้นที่ อ.กำแพงแสน โดยเมื่อผลิตเสร็จแล้ว สินค้าจะถูกนำไปจำหน่ายในพื้นที่ อ.กำแพงแสน อ.ดอนตูม อ.สามพราน และกระจายตามร้านเพ็ทช็อป และผ่านช่องทางออนไลน์ไปทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังมีเครือข่ายผู้นำเข้าจากต่างประเทศ โดยเจ้าหน้าที่ได้ตรวจค้นสถานที่จัดเก็บสินค้าและจำหน่าย ในโกดัง พื้นที่ ต.บางน้ำจืด อ.เมืองสมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร ตรวจยึดผลิตภัณฑ์ยาสัตว์ไม่มีทะเบียน ตรวจยึดของกลาง ทั้งสิ้น 6,270 กล่อง มูลค่าประมาณ 4,841,200 บาท
จากการสืบสวนพบว่า เครือข่ายผู้นำเข้าดังกล่าวมีกลุ่มนายทุนชาวจีนเป็นผู้ดำเนินการ โดยนำเข้าสินค้ามาจากประเทศจีน แล้วนำมาเก็บไว้ที่คลังสินค้าเพื่อรอการจำหน่าย โดยมีการโฆษณาขายผ่านช่องทางออนไลน์ เมื่อมีการสั่งซื้อจากลูกค้าในประเทศไทย ข้อมูลการสั่งซื้อดังกล่าวจะส่งไปยังประเทศจีนโดยตรง ซึ่งจะมีนายทุนจีนเป็นผู้ตรวจสอบข้อมูลการสั่งซื้อกลับมายังลูกจ้างชาวจีนประจำประเทศไทยเพื่อแพ็คสินค้า และส่งสินค้าให้ลูกค้าในประเทศไทย โดยทำมาแล้วประมาณ 4 เดือน ยอดขายเดือนละ 500 กล่องโดยเป็นจำนวนเงินเฉลี่ย เดือนละ 300,000 บาท ตำรวจสามารถตรวจยึดยาไม่ขึ้นทะเบียนตำรับ กว่า 222,360 ชิ้นในเคสนี้ มูลค่าความเสียหายกว่า 84,841,200 บาท นำส่งตรวจวิเคราะห์ ณ กรมวิทยาศาสตร์ การแพทย์ ยืนยันผลตรวจวิเคราะห์อีกครั้งเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
เบื้องต้นการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 กรณีพบการลักลอบตั้งโรงงานผลิตยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือโรงงานเถื่อน มีความผิดดังนี้ 1.ผลิตยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต 2.ผลิตยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา กรณียารับประทานสำหรับสัตว์ ผู้จำหน่ายจะมีความผิดฐาน “ขายยาไม่ขึ้นทะเบียนตำรับยา” และ “ขายยาไม่ได้รับอนุญาต” กรณีพบการโฆษณาขายยาทางสื่อออนไลน์ มีความผิดฐานโฆษณาขายยาโดยไม่ได้รับอนุมัติข้อความ เสียง หรือภาพจากผู้อนุญาต ฝ่าฝืนมาตรา 88 ทวิ.-420-สำนักข่าวไทย