กทม.18มิ.ย.-องค์กรพิทักษ์พระพุทธศาสนาฯ ยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ตีความกฎหมายสงฆ์จับพระสึกก่อนคำพิพากษา ขัดหรือแย้งกับ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ยันไม่ใช่การเคลื่อนไหว แต่อยากให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน ระหว่างกฏหมายสงฆ์และกฏหมายบ้านเมือง
พระมหาทนงค์ วิสุทฺธสีโล วัดใหม่พิเรนทร์ เลขานุการองค์กรพิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งชาติ (อพช.) พร้อมด้วยพระมหาบุญถึง พลบุญโญ วัดวังแดงเหนือ จ.พิจิตร และพระภิกษุ รวม6 รูป จาก องค์กรพิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งชาติ เข้า ยื่นหนังสือต่อ ศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความกฎหมาย พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 29,30 ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 27,28 หรือไม่ หลังจากพิจารณาเห็นว่า การพิจารณาให้พระที่ถูกกล่าวหาว่า กระทำผิดแต่ถูกจับสึกก่อนมีคำพิพากษา เป็นการละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยพ.ร.บ.คณะสงฆ์ มาตรา 15 จัตวา, มาตรา26, 28 ระบุการสละสมณเพศ เป็นการลงโทษสำหรับภิกษุ ผู้กระทำผิดที่มีคำวินิจฉัยถึงที่สุดแล้ว แต่มาตรา 29 และ30 กลับสามารถลงโทษจับสึก ก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุด ซึ่งขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา27 ไม่ให้ลงโทษทางอาญาก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุด ดังนั้นทางอพช.จึงต้องมายื่นหนังสือต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ช่วยตีความ เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปตามเจตนารมณ์อย่างถูกต้องและเป็นธรรม ซึ่งรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดที่ใช้ในการปกครองประเทศจะมีกฎหมายอื่นใดมาขัดหรือแย้งมิได้
โดยมีนาย นายถวัลย์ โภคัง ผู้อำนายการฝ่ายสำนักคดี ศาลรัฐธรรมนูญ เป็นผู้รับเรื่อง ทั้งนี้ศาลรัฐธรรมนูญ ได้แนะนำให้ทำตามกระบวนการ โดยให้ทาง อพช.ไปยื่นที่ผู้ตรวจการแผ่นดินก่อน โดยจะใช้เวลาในการพิจารณาภายใน60 วัน ก่อนที่ผู้ตรวจการแผ่นดินจะส่งเรื่องมายังศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากผู้ตรวจการแผ่นดินส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ ทาง อพช.จะเดินทางมาที่ศาลรัฐธรรมนูญอีกครั้ง
พระมหาบุญถึง พลบุญโญ วัดวังแดงเหนือ จ.พิจิตร กล่าวว่า การมายื่นตีความครั้งนี้ เพื่อต้องการให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยและตีความ ให้เข้าใจตรงกันระหว่างกฏหมายสงฆ์ และกฏหมายบ้านเมือง ถึงกระบวนการจับพระสึก ทั้งที่คดียังไม่ถึงที่สุด เพื่อให้เกิดความสบายใจทั้ง2 ฝ่าย ยืนยันว่า การมายื่นหนังสือครั้งนี้ไม่ได้มาเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่เพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน ระหว่างกฏหมายสงฆ์และกฏหมายบ้านเมือง และเพื่อความเป็นธรรมทั้ง2 ฝ่าย ซึ่งกรณีที่ให้พระผู้ใหญ่สึกก่อนคดีความจะถึงที่สุด ถือเป็นกรณีศึกษา จึงอยากให้ศาลช่วยตีความ เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดระหว่างกัน
ด้านพระมหาทนงค์ วิสุทฺธสีโล วัดใหม่พิเรนทร์ เลขานุการองค์กรพิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งชาติ ยืนยันว่า อพช.มายื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความระหว่างกฏหมายสงฆ์ และหมายบ้านเมือง กรณีจับพระสึก ก่อนคดีความจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด ว่าขัดหรือแย้งกันหรือไม่เท่านั้น ไม่ได้ยื่นกรณีอื่นๆนอกเหนือจากนี้และการมาครั้งนี้ของอพช.ไม่ใช่การออกมาเคลื่อนไหวหรือการออกมาชุมนุมแต่อย่างใด .-สำนักข่าวไทย