กทม. 29 พ.ค. – สำนักข่าวไทย อสมท สำรวจข้อมูลของจำนวนพระสงฆ์ในประเทศไทย และชั้นยศสมณศักดิ์ของพระสงฆ์ไทยในปัจจุบัน โดยอ้างอิงจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
พบว่าสมณศักดิ์ของพระสงฆ์ไทยมี 11 ชั้น เริ่มจาก
• สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก 1 พระองค์
• สมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏ 8 รูป เป็นสมณศักดิ์รองจากสมเด็จพระสังฆราช สูงกว่าพระราชาคณะเจ้าคณะรอง มีคำนำหน้าราชทินนามว่า “สมเด็จ” ปัจจุบัน สมเด็จพระราชาคณะดำรงตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่เพียง 5 รูป และสมเด็จพระราชาคณะทุกรูป ดำรงตำแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคมโดยตำแหน่ง สมเด็จพระราชาคณะมีทั้งหมด 8 รูป แบ่งเป็นมหานิกาย 4 รูป และธรรมยุติกนิกาย 4 รูป
• พระราชาคณะเจ้าคณะรอง ชั้นหิรัญบัฏ หรือชั้นพรหม ฝ่ายมหานิกาย 16 รูป ว่าง 1 ตำแหน่ง และฝ่ายธรรมยุติกนิกาย 6 รูป โดยคดีเงินทอนวัดลอต 3 ที่เกิดขึ้น ผู้ต้องหาเป็นพระชั้นพรหม หรือรองสมเด็จ 3 รูป คือ อดีตพระพรหมดิลก เจ้าอาวาสวัดสามพระยา พระพรหมสิทธิ เจ้าอาวาสวัดสระเกศ และพระพรหมเมธี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศาราม ทั้ง 3 รูป อยู่ในสมณศักดิ์ชั้นรองสมเด็จ
ต่อมาคือ พระราชาคณะชั้นธรรม 35 รูป พระราชาคณะชั้นเทพ 66 รูป พระราชาคณะชั้นราช 144 รูป และพระราชาคณะชั้นสามัญ 394 รูป
• พระครูสัญญาบัตรชั้นตรี-โท-เอก-พิเศษ (ไม่จำกัดจำนวน)
• พระครูฐานานุกรม ตั้งได้ตามจำนวนที่ปรากฏในสัญญาบัตรของพระราชาคณะ
• พระครูประทวนสมณศักดิ์ (พระครูผู้อุปการะการศึกษา) (ไม่จำกัดจำนวน)
• พระเปรียญธรรม ตั้งแต่เปรียญธรรม 3 ประโยคถึงเปรียญธรรม 9 ประโยค
การปกครองสงฆ์ในปัจจุบัน สมเด็จพระสังฆราช คือประมุขแห่งคณะสงฆ์ ซึ่งตามกฎหมายคณะสงฆ์บัญญัติให้ทรงดำรงตำแหน่งสกลมหาสังฆปริณายก ที่มาและอำนาจหน้าที่ของสมเด็จพระสังฆราช เป็นไปตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มีมหาเถรสมาคมเป็นผู้ทำหน้าที่คล้ายกับคณะรัฐมนตรี โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเป็นประธานกรรมการโดยตำแหน่ง สมเด็จพระราชาคณะทุกรูปเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และพระราชาคณะซึ่งสมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งไม่เกิน 12 รูป เป็นกรรมการโดยการแต่งตั้ง
ส่วนการปกครองลำดับรองลงมาคือ เจ้าคณะใหญ่ เจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล จนกระทั่งมาถึงระดับเจ้าอาวาสวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ. – สำนักข่าวไทย