ซีอีโอแจง 8 ข้อเท็จจริงข้อกล่าวหา ปตท.

กรุงเทพฯ 27 พ.ค  – ซีอีโอ ปตท.แจง 8 ข้อ โต้ข้อกล่าวหา ปตท. ขอประชาชนใช้วิจารณญาณ ย้ำจะฟ้องร้องเพจบิดเบือนข้อมูลเท็จสร้างความเสียหายเท่านั้น



นายประเสริฐ สลิลอำไพ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารชื่อเสียงองค์กรและกิจการเพื่อสังคม บมจ.ปตท. กล่าวว่า การที่ ปตท.ออกมาระบุว่าจะตรวจสอบเว็บไซต์หรือเพจที่ให้ข้อมูลบิดเบือน และจะมีการฟ้องร้องดำเนินการทางกฎหมายนั้น ขอยืนยันว่าจะฟ้องร้องเฉพาะผู้ให้ข้อมูลเท็จและสร้างความสับสนแก่สังคมเท่านั้น ส่วนการที่สื่อหรือประชาชนวิพากษ์วิจารณ์ ปตท.โดยไม่ใช้ข้อมูลเท็จก็สามารถดำเนินการได้ตามปกติ โดยขอยืนยันว่า ปตท.ในฐานะรัฐวิสาหกิจดูแลความมั่นคงพลังงานการดำเนินการต่าง ๆ คำนึงถึงผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ขณะที่ราคาพลังงานที่แพงขึ้นก็ต้องยอมรับว่าเกิดจากราคาตลาดโลกเป็นหลัก แม้ไทยจะผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติได้บางส่วนแต่ราคาก็ต้องสะท้อนกลไกตลาดโลกเป็นหลัก 


ด้านนายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. ชี้แจงผ่านเฟซบุ๊กเมื่อวานนี้ถึงเรื่องการรณรงค์หยุดเติมน้ำมันของ ปตท.ว่า เรื่องนี้ใช้อารมณ์ เหตุผล หรือเจตนาแอบแฝง โดยในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาราคาน้ำมันดิบตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นถึงร้อยละ  20 ส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันเบนซิน ดีเซล และ LPG สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วโลกด้วยเช่นกัน ทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบมีค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้น ผู้ที่ได้ประโยชน์จากสถานการณ์นี้ คือ ประเทศผู้ส่งออกพลังงาน ซึ่งเคยประสบปัญหารายได้หายไปเมื่อราคาพลังงานดิ่งลงตั้งแต่ 4 ปีที่แล้ว เป็นวัฏจักรที่มีการขึ้นลงเช่นเดียวกับอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่มีการลงทุนขนาดใหญ่และมี lead time นาน 

คนทั่วไปอาจจะไม่เข้าใจธุรกิจพลังงานและกลไกตลาดโลก จึงเริ่มมองหาจำเลยที่จะระบายความโกรธแค้นที่เขาต้องเดือดร้อน ใกล้ตัวที่สุด คือ ผู้ค้าขายน้ำมัน โดยเฉพาะ ปตท. ซึ่งเป็นผู้ค้าสำคัญในประเทศไทย จนถึงขั้นมีขบวนการรณรงค์ให้หยุดเติมน้ำมัน ปตท. และบิดเบือนต่ออีกว่า ปตท.ก็ไม่เดือดร้อน เพราะขายน้ำมันต่างประเทศเป็นหลัก

ทั้งนี้ รวบรวมเหตุผลได้ 8 ข้อ และเห็นว่าข้อกล่าวหาต่างๆ นั้นไม่ตรงกับความจริง ซึ่งต้องขอขอบคุณเพื่อน ๆ หลายคนที่ช่วยออกมาอธิบาย และเตือนสติการใช้อารมณ์เกาะตามกระแสที่จะสร้างความเสียหายกับประเทศ


“ข้อเท็จจริงต่างๆ เหล่านี้ได้มีการชี้แจงกับสังคมมาโดยตลอด แต่ยังมีขบวนการที่ตั้งใจโจมตี ปตท.อย่างต่อเนื่อง จึงทำให้ต้องคิดต่อว่า วัตถุประสงค์ที่แท้จริงคืออะไร?, ใครคือผู้อยู่เบื้องหลัง?, เขาไม่เข้าใจพื้นฐานของอุตสาหกรรมพลังงานจริงๆ หรือ ?, ใครได้ประโยชน์อะไรจากการที่ทำให้บริษัทพลังงานของชาติเสียหายและอ่อนแอลง!, เราจะลงโทษพวกที่ชอบสร้างกระแสในโลกโซเชียลมีเดีย จากความเท็จ หรือพูดจริงครึ่งเดียวยังไงดี? เพราะมีคนไทยจำนวนหนึ่งที่อ่าน Hate Speech ของขบวนการนี้แล้วคล้อยตาม ตกเป็นเครื่องมือในการบั่นทอนความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ และทำลายองค์กรไทยด้วยกันเอง” นายเทวินทร์ ระบุ

นายเทวินทร์ ระบุด้วยว่าเขียนเรื่องนี้ เพื่อจุดประกายให้เพื่อนๆ ตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรดี ระหว่าง 1.หยุดเติม ปตท.ตามกระแส  2.ตั้งสติ ใช้ปัญญา พิจารณาเหตุผล และแชร์ข้อเท็จจริงในเครือข่าย ตามที่เห็นว่าเหมาะสม 3.ปกป้องสังคม ด้วยการประจานและต่อต้านผู้ที่มีเจตนาแอบแฝงสิทธิ์ในการเลือกเป็นของทุกคนครับ ขอให้เลือกโดยใช้ปัญญาวิเคราะห์ข้อเท็จจริงด้วยเหตุและผล เพื่อประโยชน์ส่วนรวม

“ขอยืนยันว่าผมและชาว ปตท.ทุกคนตั้งใจทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด เพื่อความมั่นคงทางพลังงานของคนไทยอย่างยั่งยืน จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่แคร์คนไทย และจะปลดพนักงานตามที่มีเพจลงข้อความที่เป็นเท็จ ” เทวินทร์ กล่าว 

สำหรับข้อกล่าวหา 8 ประเด็น

1. ปตท.ขายน้ำมันแพงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ? 

ตอบ : มีทั้งแพงกว่าและถูกกว่า 

– เมื่อเปรียบเทียบราคากับเพื่อนบ้าน มาเลเซียต่ำที่สุด สิงคโปร์สูงที่สุด ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ใกล้เคียงกับเรา 

– ปัจจัยของราคาขายปลีก คือ ต้นทุนเนื้อน้ำมันและค่าการตลาดของผู้ค้าที่จะไม่ต่างกัน ที่แตกต่างมากคือภาษีที่แต่รัฐบาลแต่ละประเทศกำหนด 

– มาเลเซียมีรายได้จากการส่งออกน้ำมันและก๊าซมาก จึงแทบไม่เก็บภาษีผู้ใช้ในประเทศ

– สิงคโปร์เก็บเยอะ เพราะต้องการจำกัดการใช้รถยนต์

– ไทยและประเทศอื่นๆ เป็นผู้นำเข้าน้ำมัน จึงเก็บภาษีสรรพสามิตมาเป็นงบรัฐ สำหรับสร้าง/ซ่อมถนน และพัฒนาระบบขนส่งมวลชนให้คนส่วนใหญ่

– สำหรับราคาในประเทศไทย ปั๊ม ปตท. ไม่เคยสูงกว่าปั๊มต่างชาติ และจะต่ำกว่าเป็นบางวัน

2. ปตท.ส่งออกน้ำมันถูกกว่าที่ขายในประเทศ ?

ตอบ : ราคาส่งออกใกล้เคียงกับราคาหน้าโรงกลั่นที่ขายในประเทศ

– ราคาที่ ปตท. ส่งออกเป็นราคาตลาดในภูมิภาค ซึ่งจะสะท้อนราคาเนื้อน้ำมันเป็นหลัก ยังไม่รวมภาษีสรรพสามิต 

– เพื่อนบ้านที่ซื้อไป ก็ขายที่ปั๊มในราคาที่สูงขึ้น เพราะต้องบวกภาษีในประเทศเขา

– สิงคโปร์ ซึ่งนำเข้าน้ำมันดิบมากลั่น ก็ส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปในราคาที่ต่ำกว่าที่ขายในประเทศเช่นกัน

3. ปตท.แอบขึ้นราคาน้ำมันต่อเนื่อง โดยไม่บอกประชาชน ?

ตอบ : ไม่จริง 

– การขึ้นราคาขายปลีกในประเทศเป็นไปตามราคาตลาดโลก 

– ไทยมีโรงกลั่นเอง แต่ต้องนำเข้าน้ำมันดิบมากลั่น

– ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา น้ำมันดิบโลกมีราคาสูงขึ้น 20 % 

– ปตท.ปรับราคาขายปลีกเท่าที่จำเป็นเพื่อรักษาค่าการตลาดประมาณ 1.60-1.80 บาทต่อลิตร 

– ตั้งแต่ 6 เม.ย. ปตท. ปรับขึ้นราคา 6 ครั้ง ราคาต่ำกว่าปั๊มต่างประเทศรวม 9 วัน

– ในอดีต ปตท.เป็นหนึ่งในผู้ค้าไม่กี่รายที่ประกาศการปรับราคาล่วงหน้าเพื่อประโยชน์ของผู้บริโภค 

– ตั้งแต่ 26 เม.ย. กระทรวงพลังงานขอความร่วมมือผู้ค้าทุกรายไม่ให้ประกาศล่วงหน้าเพื่อสร้างการแข่งขันด้านราคา ปตท.จึงปฏิบัติตาม โดยไม่มีเจตนาปิดบังแต่อย่างใด

– ปัจจุบันกระทรวงพลังงานได้ผ่อนผันเรื่องนี้ ปตท.จึงกลับมาประกาศล่วงหน้าสำหรับการปรับราคาลงในวันที่ 26 พ.ค. นี้

4. ปตท.กำไรเยอะ จากการผูกขาดขายน้ำมันแพง ?

ตอบ : ไม่จริง 

– ธุรกิจค้าขายน้ำมันเป็นตลาดเสรี มีผู้ค้ามากมายกว่า 30 ราย แต่ละรายมีสิทธิ์ตั้งราคาเอง 

– ค่าการตลาด 1.60-1.80 บาท/ลิตร แบ่งให้ Dealers เจ้าของปั๊มแล้ว ยังไม่คุ้มค่าการลงทุน ทุกปั๊มจึงต้องเปิดร้านสะดวกซื้อและร้านค้าอื่นเพิ่มขึ้นเพื่อหารายได้เสริม 

– กำไรทั้งหมดของ ปตท.มาจากธุรกิจน้ำมันเพียง 10 % ที่เหลือเป็นผลตอบแทนจากการลงทุนจำนวนมากในธุรกิจก๊าซ สำรวจและผลิต โรงกลั่นและปิโตรเคมี 

– ณ สิ้นปี 2560 ปตท. มีสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น (Total Assets) 2.23 ล้านล้านบาท มีกำไร 135,000 ล้าน คิดเป็นผลตอบแทนจากสินทรัพย์ (ROA) 6 % ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของการทำธุรกิจทั่วไป

5. ปตท.ผลิตก๊าซและน้ำมันในประเทศมากมาย ควรเอามาอุดหนุนราคา ?

ตอบ : ไม่ควร 

– เพราะ ปตท.สผ. (บ.ลูกของ ปตท.) มีสัดส่วนการผลิตก๊าซและน้ำมัน 30% ของผู้ผลิตในประเทศ เทียบเท่าเพียง 10% ของการใช้พลังงานทั้งหมด 

– รายได้จะไม่เพียงพอที่จะนำมาอุดหนุนราคาได้อย่างมีนัยสำคัญ 

– นอกจากนั้นยังต้องสำรองรายได้สำหรับการขยายการลงทุนเพื่อความมั่นคงทางพลังงานในอนาคต

6. คุณภาพน้ำมันและบริการของ ปตท. ต่ำกว่ามาตรฐาน ?

ตอบ : ไม่จริง

– ปตท.พัฒนาคุณภาพน้ำมันสูงกว่ามาตรฐานทั่วไป ทั้งเรื่องประสิทธิภาพของเครื่องยนต์ และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

– ปตท.เป็นผู้นำด้านการสรรหาสินค้าและบริการที่ตอบสนองความต้องการและอำนวยความสะดวก ปลอดภัยของลูกค้า 

7. ปตท.มุ่งแต่ทำกำไร ไม่เคยช่วยเหลือสังคม ?

ตอบ : ไม่จริง

– ปั๊ม ปตท.เปิดพื้นที่ให้เกษตรกร ชาวนา ชาวสวนนำผลิตภัณฑ์มาวางขายตรงให้ลูกค้า โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

– ปั๊ม ปตท.จัดกิจกรรม เช่น ห้องน้ำ 20 บาท โครงการแยกขยะ เพื่อนำรายได้ไปช่วยสถานศึกษาในชุมชน

– ปตท.ตั้งบริษัท Social Enterprise เพื่อสนับสนุนวิสาหกิจชุมชนให้สร้างรายได้ร่วมกับธุรกิจของ ปตท.

– ปตท.ร่วมกิจกรรมดูแลสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง เช่น ปลูกป่า หญ้าแฝก รางวัลลูกโลกสีเขียว โรงเรียนวิทยาศาสตร์กำเนิดวิทย์ สถาบันวิทยสิริเมธี ป่าในกรุง ฟื้นฟูคุ้งบางกะเจ้า จัดประกวดศิลปกรรม ปตท. ทุกปี สนับสนุนสมาคมกีฬา 5 ประเภท ทำโครงการ Pride of Thailand

8. นายทุน / นักการเมือง เป็นเจ้าของ ปตท. ?

ตอบ : ไม่จริง

– รัฐบาลไทย โดยกระทรวงการคลังและกองทุนวายุภักษ์ ถือหุ้น ปตท.ประมาณ 63.5 %

– อีก 32 % ถือโดยสถาบันการเงิน/กองทุน 

– ที่เหลือ 4.5 % คือนักลงทุนรายย่อย.- สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

ข่าวแนะนำ

ซุ้มไฟเฉลิมพระเกียรติฯ สุดตระการตา รับประเพณียี่เป็ง

ยามค่ำคืนในตัวเมืองเชียงใหม่ ประดับประดาด้วยแสงไฟรับประเพณียี่เป็ง หรือลอยกระทงเชียงใหม่ โดยเฉพาะบนถนนท่าแพ มีการสร้างซุ้มประดับไฟเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จำนวน 14 ซุ้ม ยาวกว่า 200 เมตร.

“ฟิล์ม รัฐภูมิ” ตั้งโต๊ะแจงปมรีดทรัพย์ รับอ้างชื่อ “หนุ่ม กรรชัย” เพื่อขายงาน

“ฟิล์ม รัฐภูมิ” ตั้งโต๊ะแจงปมเรียกรับเงิน 20 ล้านบาท จากดิไอคอน ยอมรับอ้างชื่อ “หนุ่ม กรรชัย” เพราะต้องการขายงาน

คุมตัว “ตี่ลี่ฮวงจุ้ย” ฝากขัง เจ้าตัวเงียบรีบเดินขึ้นรถตู้

ตำรวจกองปราบคุมตัว “ตี่ลี่ฮวงจุ้ย” ฝากขัง ผู้ต้องหาปัดตอบสื่อ ด้านพนักงานสอบสวนคัดค้านการประกันตัว เพราะมีพฤติการณ์หลบหนี