กรุงเทพฯ 16 พ.ค-มูบาดาลา เอาจริงโชว์เงินทุน 5.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ร่วมชิงชัย”เอราวัณ-บงกช” ใช้ประสบการณ์ระบบแบ่งปันผลผลิต (พีเอสซี ) หลายประเทศมาแข่งขัน
นายนาสเซอร์ อัล ฮาจรี รองประธานอาวุโสฝ่ายปฎิบัติการ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัท มูบาดาลา ปิโตรเลียม และนาย ราเช็ด อัลบลูชิ ประธานกรรมการ บริษัทมูบาดาลา ปิโตรเลียม (ประเทศไทย) จำกัด ได้เดินทางมายัง กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เพื่อยื่นหลักฐานแสดงคุณสมบัติเบื้องต้น(Pre-Qualification Evaluation) สำหรับการแข่งขันประมูลแหล่งปิโตรเลียม”เอราวัณ-บงกช” ในระบบแบ่งปันผลผลิต หรือพีเอสซีเป็นครั้งแรกของประเทศ ไทย
นายนาสเซอร์ กล่าวว่า มูบาดาลา ซึ่งเป็นบริษัทที่รัฐบาลอาบูดาบี ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี ) ถือหุ้นร้อยเปอร์เซนต์ ได้ให้ความสำคัญในการประมูลครั้งนี้ของประเทศไทย โดยทางบริษัทได้วางเป้าหมายในการขยายการลงทุนมายังภูมิภาคอาเซียน ซึ่งขณะนี้ มีการลงทุนอยู่แล้วทั้งในเวียดนาม ไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ดังนั้น ตนจึงเดินทางมาจากอาบูดาบี มายื่น เอกสาร PQ ด้วยตนเอง โดยได้ยื่นว่าพร้อมจะเป็นผู้ดำเนินการ หรือโอเปอร์เรเตอร์ทั้ง 2 แหล่ง และข้อมูลที่สำคัญ คือแสดงเรื่องเงินทุน 5.6 หมื่นดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่า ข้อกำหนด ที่รัฐบาลไทยกำหนดว่า เงินทุนสำหรับแหล่งเอราวัณ 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แหล่งบงกช 2,000 ล้านดอลลาร์
นอกจากนี้ บริษัท ยังมีประสบการณ์การผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย สูงกว่า ที่รัฐบาลไทยกำหนดว่ามีการผลิตก๊าซธรรมชาติในทะเลไม่ต่ำกว่า 100 ล้านลูกบาศ์กฟุต/วัน เพราะปัจจุบันเป็นโอเปอร์เรเตอร์ โครงการผลิตก๊าซธรรมชาติที่แหล่งดอลฟิน ตะวันออกกลาง ถึง 2,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ผลิตก๊าซฯในอินโดนีเซีย 90-115 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เตรียมผลิตแห่ง SK 320 มาเลเซีย 500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในไตรมาส 3/2021
“ข้อกำหนดเรื่องความสามารถในการผลิตเป็นเรื่องง่ายๆที่บริษัททำได้ ส่วนเรื่องเงินทุนไม่ต้องเป็นห่วงบริษัทแม่มีการเงินแข็งแกร่ง ดำเนินการลงทุนใน 13 ภาคธุรกิจ กว่า 30 ประเทศทั่วโลก ทั้งด้านปิโตรเลียม การบินและอวกาศ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สารกึ่งตัวนำ โลหะการทำเหมืองแร่ และพลังงานทดแทน รวมไปถึงการจัดการทางการเงินที่หลากหลาย”นายนาสเซอร์กล่าว
อย่างไรก็ตาม มูบาดาลา ยังไม่ยืนยันชัดเจนว่าหลังจากยื่น PQ แล้ว จะตัดสินใจยื่นแข่งขันประมูลจริงทั้งสองแหล่ง หรือจะร่วมทุนกับใครในการประมูลบ้าง โดยว่าจะพิจารณาเป็นขั้นเป็นตอนไป เพราะมีเวลาพิจารณาที่จะยื่นประมูลอีก 4 เดือนข้างหน้า จากประสบการณ์เรื่องพีเอสซีในหลายประเทศ เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย ทำให้ สามารถเสนอเงื่อนไขการประมูลแข่งขันได้อย่างไม่มีปัญหา -สำนักข่าวไทย