กรุงเทพฯ 6 พ.ค. – ตลาดหุ้นไทยและเงินบาทสัปดาห์หน้ายังถูกกดดันจากปัจจัยต่างประเทศ ทั้งผลการเจรจาการค้าสหรัฐและจีน และถ้อยแถลงเจ้าหน้าที่เฟด กสิกรไทยคาดเงินบาทเคลื่อนไหว 31.50-31.90 บาทต่อดอลลาร์ และหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,755-1,770 จุด
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัดรายงานว่าสัปดาห์ที่ผ่านมา (30 เม.ย.-4 พ.ค.) เงินบาทอ่อนค่าเข้าใกล้แนว 31.75 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทขยับแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยในช่วงต้นสัปดาห์ ขณะที่นักลงทุนบางส่วนทยอยขายเงินดอลลาร์ฯ เพื่อปรับโพสิชันก่อนการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อย่างไรก็ตาม เงินบาทลดช่วงบวกทั้งหมดและกลับมาปรับตัวอ่อนค่าลงในช่วงที่เหลือของสัปดาห์สอดคล้องกับสถานะขายสุทธิพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ได้รับแรงหนุนหลังจากแถลงการณ์การประชุมเฟดสะท้อนภาพแรงกดเงินเฟ้อที่ขยับขึ้นเข้าใกล้ระดับเป้าหมายของเฟดในปีนี้ โดยวันศุกร์ที่ 4 พฤษภาคม เงินบาทอ่อนค่ามาอยู่ที่ระดับ 31.74 เทียบกับ 31.59 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า
สำหรับสัปดาห์หน้า (7-11 พ.ค.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 31.50-31.90 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยจุดสนใจของตลาดน่าจะอยู่ที่การตอบรับของตลาดต่อตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐ ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด และผลการเจรจาด้านการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ขณะที่ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขเงินเฟ้อที่สะท้อนจากดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต เดือนเมษายน นอกจากนี้ ตลาดอาจรอติดตามข้อมูลเศรษฐกิจเดือนเมษายนของจีนด้วยเช่นกัน
ด้านตลาดหุ้นไทยสัปดาห์ที่ผ่านมา ดัชนีร่วงลงช่วงปลายสัปดาห์ โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,779.87 จุด ทรงตัวเมื่อเทียบกับระดับปิดช่วงปลายสัปดาห์ก่อน อย่างไรก็ตาม มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันปรับลดลง ร้อยละ 11.00 จากสัปดาห์ก่อนมาที่ 54,690.63 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ mai ปิดที่ 488.45 จุด เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.50 จากสัปดาห์ก่อน
ส่วนสัปดาห์หน้า (7-11 พ.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,770 และ 1,755 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,800 และ 1,810 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ การตอบสนองของตลาดต่อผลการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด และการทยอยประกาศผลการดำเนินงานของ บจ.งวดไตรมาส 1/2561 ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐ อื่น ๆ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนเมษายน ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่น ๆ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคของประเทศในแถบยุโรป และข้อมูลเศรษฐกิจเดือนเมษายนของจีน.-สำนักข่าวไทย